กรกฎาคม 25, 2553

โทษประหารชีวิตในประเทศไทย






สวัสดีค่ะ วันนี้ขึ้นหัวเรื่องดูเหมือนจะน่ากลัว แต่จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องบทลงโทษ

ตามกฎหมายบ้านเมืองอยู่ที่ว่าประเทศไหนจะมีบทลงโทษหรือสภาพบังคับ

อย่างไร ขึ้นอยู่กับสภาพสังคม วัฒนธรรม ฯลฯ


การลงโทษเป็นการกระทำให้ผู้กระทำผิดได้รับความทุกข์ทรมานทั้งทางกาย

จิตใจ หรือทรัพย์สิน เพื่อให้ผู้กระทำผิดเกิดความสำนึกในผลการกระทำผิด

และเกิดความหวาดกลัวไม่กล้ากระทำผิดอีกทั้งยังเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้อื่น

เอาเยี่ยงอย่างและกระทำผิดเช่นนั้นอีก



การลงโทษประหารชีวิต โทษจำคุกและโทษกักขัง ถือว่าเป็นการตัด

ผู้กระทำผิดออกจากสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งโทษประหารชีวิตและโทษจำคุก

ตลอดชีวิต เป็นบทลงโทษที่สามารถกำจัดผู้กระทำผิดไม่ให้กระทำผิดซ้ำ

และเป็นการป้องกันสังคมให้ปลอดจากอาชญากรรมสำหรับประเทศไทย

ประมวลกฎหมายอาญากำหนดการลงโทษทางอาญาแก่จำเลยไว้ชัดเจนว่า

มี 5 แบบ เท่านั้น คือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน

โดยที่จะมาดูโทษสูงสุดทางกฎหมายอาญา ได้แก่ โทษประหารชีวิต

โทษประหารชีวิต คือ โทษสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติให้นักโทษที่ได้รับ

การพิพากษาถึงที่สุดแล้ว มีผลต้องถูกทำให้เสียชีวิตตามกระบวนการยุติธรรม

โดยบุคคลที่กระทำหน้าที่นี้เรียกว่า "เพชฌฆาต"



ในอดีต จะใช้วิธีประหารชีวิตที่ส่งผลให้ประชาชนเกิดความกลัว และไม่กล้าที่จะ

กระทำความผิด เช่น


การตัดศีรษะ (Beheading, Decapitation)

การฝังทั้งเป็น (Buried alive)

การโยนลงไปในหลุมงู (Snake pit) หรือ ประหารโดยใช้สัตว์ป่า แมลง

การผ่าท้อง (Disembowelment) ตัวอย่างเช่น ฮาราคีรี

การเผาทั้งเป็น (Burning to death)

การประหารแบบ Sawing


นอกจากนี้ ยังมีวิธีประหารชีวิตเฉพาะชาติต่างๆ เช่น

การหักหลัง (Breaking back) ในชนชาติมองโกล

การแล่เนื้อ (Slow slicing) ในจีน

การตรึงกางเขน (Crucifixion) ในโรมัน

โทษประหารแบบ Drawing and quartering ในอังกฤษ

โดยสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ เป็นผู้ริเริ่ม

โทษประหารแบบ Scaphism หรือ The Boats ในเปอร์เซีย เป็นต้น

ในปัจจุบัน โทษประหารชีวิตในหลายประเทศได้ถูกยกเลิกไป เนื่องจากเหตุผล

ทางมนุษยชน




ประเทศไทยมีบทกฎหมายกำหนดการลงโทษประหารชีวิตไว้หลายลักษณะ เช่น

สมัยกรุงศรีอยุธยามีการลงโทษประหารชีวิตตามกฎหมายพระไอยการกะบถศึก

พ.ศ.1978 และได้ใช้มาจนถึงรัฐสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า

เจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) จึงได้กำหนดการลงโทษประหารชีวิตเสียใหม่

ด้วยดาบไว้ในมาตรา 13 แห่งกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127

(พ.ศ.2452) ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดต้องคำพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิต

ท่านให้นำเอามันไปตัดศีรษะเสีย" ประเทศไทยก็ได้ใช้วิธีการประหารชีวิตโดยใช้ดาบ

ตัดศีรษะเรื่อยมาเป็นเวลา 26 ปี จนกระทั่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เมื่อปี พ.ศ.2475 ได้มีการยกเลิกวิธีประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะนี้เสีย

และได้เปลี่ยนมาใช้การประหารชีวิตโดยวิธียิงด้วยปื่น หรือที่เรียกว่า "ยิงเป้า"

ต่อมานับจากวันที่ 19 ตุลาคม 2546 การประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าก็

กลายเป็นอดีตเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการประหารชีวิตนักโทษ

จากการยิงเป้าไปเป็นการนำมาฉีดยา หรือสารพิษให้ตาย ตามมาตรา 19

แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 16)

พ.ศ. 2546 มาตรา 19 บัญญัติว่า

" ผู้ใดต้องโทษประหารชีวิต ให้ดำเนินการด้วยวิธีฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย"


สำหรับวิธีการประหารชีวิตที่ใช้ในประเทศไทยที่จะกล่าวถึงมี 4 วิธี คือ

1. การประหารชีวิตด้วยดาบ

2. การประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์

3. การประหารชีวิตด้วยวิธียิงด้วยปืน

4. การประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษเข้าร่างกาย ปัจจุบันประเทศไทยใช้วิธี

การประหารชีวิตแบบนี้



1. การประหารชีวิตด้วยดาบ

การประหารชีวิตด้วยดาบ คือ การลงโทษตัดศีรษะ ในสมัยก่อนใช่ว่าจะลงโทษ

ต่อผู้กระทำผิดตัวบทกฎหมายประพฤติตนเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยของ

บ้านเมืองเท่านั้น ในยามศึกสงครามที่มีข้าศึกมารุกรานบ้านเมือง ผู้ที่ฝ่าฝืน

พระบรมราชโองการหรือคำสั่งแม่ทัพนายกองถอนทัพหนีข้าศึกโดยไม่มี

เหตุสมควรก็อาจถูกลงโทษตัดศีรษะได้การประหารชีวิตด้วยดาบ มีข้อที่

น่าสังเกต คือ มีการนำนักโทษไปประหารชีวิตที่วัด ซึ่งพอจะสันนิษฐานได้ว่า

การที่นำนักโทษไปประหารชีวิตในที่ดินเอกชน ชาวบ้านคงมีความรังเกียจ

เพราะมีคตินิยมกันมาแต่โบราณว่าการฆ่ากันตายภายในเขตที่ดินของตนเป็น

อัปมงคลแก่สถานที่ วัดมีสถานที่กว้างขวาง มีความสะดวกหลายประการ

มีป่าช้าสำหรับฝังศพ และก่อนทำการประหารมีความจำเป็นจะต้องให้

นักโทษได้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีล

มาเทศนา โปรดให้นักโทษระลึกถึงคุณพระศรีรัตนตรัยในวาระสุดท้าย

ของชีวิตจัดให้นักโทษบังสกุล ถวายไทยทานแก่พระภิกษุสงฆ์ หากนำ

นักโทษไปประหารชีวิตที่อื่นก็คงไม่สะดวกในการที่จะนิมนต์พระภิกษุสงฆ์

ไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาการประหารชีวิตนักโทษด้วยดาบ

หากจะกล่าวโดยย่อแล้วก็คงจะได้ใจความว่า

"อ่านโองการ จับมัด ตัดหัว แก้มัด ตัดส้น โยนหลุม"




2. การประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์

การประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์เป็นการประหารชีวิตพระราชวงศ์ไทยโดย

การใช้ท่อนจันทน์เป็นอุปกรณ์ ตามกฎมณเฑียรบาล มาตรา 175 กฎหมาย

มาตรานี้เป็นหลักฐานชี้ให้เห็นว่า การสำเร็จโทษโดยการใช้ท่อนจันทน์เป็น

อุปกรณ์ก่อนตีต้องเอาเสื่อขลิบเบาะรอง เพชฌฆาตผู้ตีซึ่งมีตำแหน่งที่เรียกว่า

"หมื่นทลวงฟัน" จะต้องกราบ 3 คาบเสียก่อน

วิธีการดังกล่าวไม่มีการปฏิบัติอีกต่อมาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จ

พระปรเมนมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้เลิกเสียอย่างเป็นทางการ

ตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ในรัชกาลต่อมา

ซึ่งกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้การประหารชีวิตบุคคลทุกชนชั้นกระทำ

โดยการตัดศีรษะ




3. การประหารชีวิตด้วยวิธียิงด้วยปืน


ตามประเพณีโบราณก่อนปี พ.ศ.2478 การประหารชีวิตจะทำด้วยการ

ใช้มีดดาบตัดศีรษะโดยมีเพชรฆาต 2 คน พอหลังจากปี 2478 แล้ว ได้มีการ

เปลี่ยนการประหารนักโทษจากตัดศีรษะ เป็นยิงเป้าแทน โดยการใช้ปืน

"ยิงเป้า" หรือ "ยิงเสียให้ตาย" ในทางปฏิบัติคือ ให้ใช้"ปืนยิง"และ

สถานที่ยิงเป้าส่วนใหญ่จะเป็นที่"เรือนจำบางขวาง" เพราะมีพร้อมทั้ง

สถานที่,อุปกรณ์การยิงเป้า แถมยังจัดเพชรฆาตไว้พร้อม



ก่อนการประหารมีการดำเนินการต่างๆ ตามขั้นตอนทางกฎหมาย หากนักโทษ

หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ก็จะทุเลา

การประหารชีวิตไปอีก 60 วัน นับแต่รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยถวาย

เรื่องราวหรือคำแนะขึ้นไป แต่หากมีการยกเรื่องก็ให้ทำการประหารก่อน

กำหนดได้เลยการประหารชีวิตจะต้องมีคณะกรรมการดำเนินการ 1 ชุดมีการ

พิมพ์ลายนิ้วมือของนักโทษผู้ถูกประหารชีวิต ตรวจสอบให้ถูกต้องตามประวัติ

อาชญากร เลขคดี และนามผู้ต้องโทษ เพื่อป้องกันความผิดพลาดก่อนที่

นักโทษจะถูกประหาร เจ้าหน้าที่จะถามความต้องการว่า ต้องการจะจัดการ

ทรัพย์สินหรือพูดคุยกับใครหรือไม่มีการจัดอาหารให้อย่างดีตามที่นักโทษขอ

หากไม่เป็นการพ้นวิสัย และก็จะมีการให้โอกาสนักโทษประกอบพิธีทาง

ศาสนาอีกด้วยจากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำตัวไปยังหลักประหาร การยิงเป้าจะใช้

“ปืนเอสเคเอ็นพี 5”นับตั้งแต่เปลี่ยนจากการบั่นคอมาเป็นยิงเป้านั้น มีการ

ประหารไปแล้ว 316 ศพ ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 3 ศพ รายสุดท้ายถูก

ประหารชีวิตเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2545 ข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา

นับเป็นรายที่ 316 ในรอบ 68 ปี และทั้ง 316 คนนั้น ถูกประหารด้วย

น้ำมือของเพชฌฆาตเพียง 8 คนเท่านั้น



4. การประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษเข้าร่างกาย


วิธีการประหารชีวิตแบบนี้ เป็นการฉีดสารพิษเข้าไปในร่างกายของนักโทษ

การประหารวิธีนี้ถูกใช้ใน มลรัฐเทกซัส และ ในมลรัฐอื่น ๆ มีวิธีการเป็น

3 ขั้นตอน

ขั้นแรก จะฉีดสาร Sodium Thiopental,Barbiturate, ซึ่งจะ

ทำให้นักโทษหมดสติ

ขั้นตอนที่ 2 จากนั้นจะฉีด Pancuronium Bromide, ซึ่งจะทำให้

กล้ามเนื้อผ่อนคลายทำให้ปอดและกระบังลมหยุดทำงาน

ขั้นตอนที่ 3 ก็จะฉีดสาร Potassium Chloride เข้าไปก็จะทำให้

หัวใจหยุดทำงานหลายฝ่ายให้ความเห็นว่า "การประหารชีวิตวิธีนี้เป็นวิธี

ที่มีมนุษยธรรมมากที่สุด" แต่นายแพทย์ กล่าวว่า วิธีการประหารชีวิตวิธีนี้

จะกระทำได้ยาก ถ้าหากว่านักโทษผู้นั้นติดยาเสพติดซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น

นักโทษประหาร โดยใช้วิธีนี้กรมราชทัณฑ์ รัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา

เรือนจำทหาร และเรือนจำแต่ละรัฐอีก 32 รัฐ ได้ใช้วิธีนี้ ในการประหารชีวิต

นักโทษ ปัจจุบันประเทศไทยใช้วิธีการประหารชีวิตแบบนี้



การประหารชีวิตด้วยวิธีฉีดยาหรือสารพิษ ในประเทศไทย ขั้นตอนการ

ดำเนินการก็เหมือนกับการยิงเป้าเปลี่ยนเพียงวิธีการประหารเท่านั้น

การประหารชีวิตแบบฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย จะนำนักโทษไปยังสถานที่

ที่เตรียมไว้ จากนั้นนักโทษนอนลงบนเตียงทำการพันธนาการเพื่อป้องกัน

มิให้นักโทษดิ้นรนขัดขืน แล้วให้พนักงานเรือนจำที่ได้รับการแต่งตั้ง

จัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ในการประหารก่อนการประหาร พนักงานเรือนจำ

ไม่น้อยกว่า 3 คน ต้องไปรับยาหรือสารพิษมาจากโรงพยาบาลหรือ

สถานพยาบาลของเรือนจำ การไปรับยาจะต้องเป็นข้าราชการเรือนจำ

ระดับ 7 ขึ้นไป เป็นผู้ควบคุมอุปกรณ์บรรจุยาหรือสารพิษให้เภสัชกรของ

โรงพยาบาลลงนามแล้วผนึกอย่างแน่นหนา และการเปิดผนึกจะต้องทำ

ต่อหน้าคณะกรรมการเจ้าหน้าที่ประหาร (เพชฌฆาต) รวม 3 คนทำการ

แทงเข็มฉีดยาเข้าเส้นเลือด โดยเข็มจะต่อเข้ากับท่อที่บรรจุยาหรือสารพิษ

รอไว้ ติดตั้งเครื่องตรวจสัญญาณการเต้นของหัวใจเข้ากับร่างกายนักโทษ

หันจอแสดงให้คณะกรรมการและสักขีพยานเห็น และเมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับ

สัญญาณ ก็ให้ปล่อยยาหรือสารพิษเข้าสู่ร่างกายนักโทษทันทีขั้นตอนนี้

กฎหมายเขียนว่า “โดยให้ตายเสียต่อหน้าคณะกรรมการและสักขีพยาน

ทั้งหมด” การฉีดสารพิษจะปล่อยตัวยาเข้าไปให้หลับก่อน แล้วค่อยปล่อย

ตัวยาที่ทำให้หัวใจหยุดสูบฉีดโลหิตภายในไม่ถึงหนึ่งนาที จากนั้นแพทย์จะ

ทำการตรวจและบันทึกยืนยันการตาย พร้อมประกาศผลการตายให้

คณะกรรมการและสักขีพยานทราบในทันทีศพนักโทษเก็บไว้ในเรือนจำ

เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 12 ชั่วโมง เมื่อล่วงเลยระยะเวลาแล้วให้แพทย์และ

ผู้บัญชาการเรือนจำตรวจและบันทึกอีกรอบ แล้วรายงานให้กระทรวงยุติธรรม

ทราบโดยด่วน จากนั้นแจ้งให้ญาตินักโทษมารับศพ หากไม่มีผู้มารับหรือ

มีเหตุขัดข้อง ก็ให้ทางเรือนจำจัดการฝังหรือเผา



เหล่านี้คือ เกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ จากวิวัฒนาการการลงโทษประหารชีวิต

โดยเฉพาะในประเทศไทยมีรูปแบบการประหารชีวิตที่เปลี่ยนแปลงตาม

ความเหมาะสมในแต่ละยุคแต่ละสมัย


ซึ่งก็ได้แต่คาดหวังว่า ในอนาคตโทษประหารชีวิตในประเทศไทยจะหมดไป

หรืออย่างน้อยที่สุดผู้กระทำผิดในโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิตจะมีปริมาณ

ลดลง อันเนื่องจากสภาพสังคมที่เจริญทั้งทางคุณธรรม และมโนธรรม

เพื่อพัฒนาภาพรวมของสังคมที่เด่นชัดในเชิงบวกยิ่งขึ้น และคงเป็นสิ่งที่ทุกคน

อยากเห็นปริมาณคดีลดลงมากกว่าที่จะมีการเพิ่มบทลงโทษมากขึ้น






อ้างอิง

- กำธร เลี้ยงสัจธรรม (บรรณาธิการ.กฎหมายตรา 3 ดวง : ฉบับพิมพ์

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แก้ไขปรับปรุงใหม่. สถาบัน

ปรีดี พนมยงค์. 2548.

- กรมราชทัณฑ์

- ชลันธร คิดถาง.กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 โดยยอร์ช ปาดู

กับสังคมไทย. วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปริญญาอักษรศาสตร

มหาบัณฑิต.2547,

สาขาวิชาฝรั่งเศสศึกษา ภาควิชาฝรั่งเศส บัณฑิตวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยศิลปากร.

- ปรามินทร์ เครือทอง. "สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์".(กรุงเทพฯ :

มติชน, 2545), หน้า 89.

- มหาดไทย.กรมราชทัณฑ์. "ประวัติการราชทัณฑ์ 200 ปี."

(กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ราชทัณฑ์, 2525. หน้า 109-110.

- อัณณพ ชูบำรุง. "ทฤษฎีอาชญาวิทยา".

(กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์. 2527), หน้า 137.




เวปไซด์


-http://www.bangkok-today.com/node/2104

-www.wikipedia.org/

-http://www.talkystory.com/site/article.php?id=8058

กรกฎาคม 22, 2553

การพนันและขันต่อ




เสร็จศึกฟุตบอลโลก 2010 ที่หลายคนอดหลับอดนอนกันเป็นแถว

เช่นเดียวกับผู้เขียนที่เฝ้าชมหลายนัด และกลายเป็นหมีแพนด้าเดินได้

ไปช่วงหนึ่ง หลายคนดีใจทีมที่เชียร์สมหวังหลายคนผิดหวังที่ทีมตกรอบ

ก็ว่ากันไป แต่ที่หนักหน่อยและตอนนี้เป็นปัญหาใหญ่ของชีวิต

สำหรับผู้ที่เล่นการพนัน วางเดิมพันทั้งหลาย ปีนี้บังเอิญฟุตบอลโลกมี

พลิกล็อคหลายคู่ด้วย ก็เลยเจ๊งกันระเนระนาด นี่จึงเป็นตัวอย่างเบื้องต้น

ของสิ่งที่เรียกว่า "การพนัน"



พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ได้ให้คำนิยามของ

"การพนัน" ว่าหมายถึงการเล่นเอาเงินหรือสิ่งอื่นโดยอาศัยความฉลาด

ความชำนาญ เล่ห์เหลี่ยม ไหวพริบและฝีมือรวมทั้งโชคด้วย



ส่วนคำว่า "ขันต่อ" หมายถึง การต่อรองซึ่งได้เสียกันโดยอาศัยเหตุการณ์

ในอนาคตที่ไม่แน่นอนเป็นข้อแพ้ชนะ


กฎหมายของไทย ได้แก่พระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478

ลักษณะของการพนันและขันต่อ

1. มีคู่สัญญาสองฝ่ายขึ้นไปฝ่ายแพ้และฝ่ายชนะ

2. ไม่มีแบบในการทำสัญญา วาจาตกลงกันก็สมบูรณ์ได้

3. เป็นลักษณะของการเสี่ยงโชคหรือใช้ฝีมือ

4. ต้องอาศัยเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอนเป็นข้อแพ้ชนะ

5. คู่สัญญาต้องมีโอกาสได้และเสียในการเสี่ยงโชคนั้น ข้อนี้นับว่า

สำคัญมากๆ เพราะถ้า คู่สัญญาฝ่ายใดมีแต่ได้ไม่มีเสีย หรือมีแต่เสียไม่มีได้

ก็ไม่ใช่การพนันและขันต่อ

6. ฝ่ายแพ้ต้องจ่ายเงินหรือทรัพย์สินให้ฝ่ายที่ชนะตามข้อตกลง



การพนันเป็นสิ่งผิดกฏหมาย หนี้ที่เกิดจากการเล่นพนันไม่สามารถ

ฟ้องร้องบังคับกันได้ ไม่ว่าจะมีสัญญากันไว้หรือไม่ก็ตาม ซึ่งเป็นไปตาม

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 853


"อัน การพนันหรือขันต่อ นั้น ท่านว่า หาก่อให้เกิดหนี้ไม่ สิ่งที่ได้ให้กันไป

ใน การพนันหรือขันต่อ ก็จะทวงคืน ไม่ได้ เพราะเหตุหามูลหนี้ อย่างหนึ่ง

อย่างใด มิได้ ข้อบัญญัติ ที่กล่าวนี้ ท่านให้ใช้ตลอดถึง ข้อตกลง เป็นมูลหนี้

อย่างหนึ่งอย่างใด อันฝ่าย ข้างเสียพนันขันต่อ หากทำให้แก่ อีกฝ่ายหนึ่ง

เพื่อจะใช้หนี้เงิน พนันหรือขันต่อ นั้นด้วย"



จะเห็นได้ว่า การพนันและขันต่อ เป็นหนี้ที่ไม่อาจบังคับกันได้ แม้จะได้มีการ

ทำสัญญากันไว้ก็ตาม การพนันในประเทศไทย กฎหมายยังไม่ยอมรับว่า

เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย ดังนั้นจะเห็นว่ามีการลักลอบเปิดบ่อนการพนันที่

ผิดกฎหมายอยู่เป็นประจำ มักมีความเกี่ยวโยงกับผู้ประกอบธุรกิจ

นอกกฎหมายอื่น ๆ และการพนันมักก่อให้เกิดอาชญากรรมประเภท

ต่าง ๆ ด้วย





เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในแถบอาเซียนของเราอย่างประเทศสิงคโปร์

ที่มีการบัญญัติกฎหมายไว้ตามธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐสิงคโปร์

(The statues of the Republic of Singapore)

ในส่วนของพระราชบัญญัติว่าด้วยบ่อนการพนัน ค.ศ.1985

ประเทศสิงคโปร์มีนโยบายในการปราบปรามบ่อนการพนันอย่างเคร่งครัด

ไม่อนุญาตให้มีการเล่นการพนันไม่ว่าในบ่อนการพนัน หรือในที่สาธารณะ

หรือที่รโหฐานใด ๆ ก็ตาม หากกระทำความผิด ต้องถูกลงโทษ ซึ่งมีโทษปรับ

และโทษจำคุกในอัตราที่สูง

นอกจากนี้ประเทศสิงคโปร์มีนโยบายเด่นชัดในการห้ามชาวต่างชาติลักลอบ

เข้ามาเล่นการพนันในประเทศ และไม่มีนโยบายในการผ่อนผัน

ให้มีการเปิดบ่อน ประเทศสิงคโปร์จึงไม่มีการเปิดบ่อนการพนัน

เนื่องจากการพนันถูกควบคุมโดยรัฐอย่างเคร่งครัด



* เหล่านี้ เป็นความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เอามาฝากท่านผู้อ่านในเรื่อง

เกี่ยวกับกฎหมายการพนันในไทยที่ยังคงเป็นปัญหากันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหา

จากการลักลอบเปิดบ่อน ปัญหาประชากรที่มีหนี้สินอันเนื่องจากการเล่น

การพนัน และส่งผลกระทบต่อสังคมทั้งในระดับจุลภาค ในกลุ่มบุคคล

และครอบครัว และอาจลามเป็นปัญหาระดับมหภาคเป็นภาพรวมของประเทศ

ซึ่งแน่นอนปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ด้วยการให้ความรู้พัฒนาในรูปประชากร

และการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด เคร่งครัด การกำหนดอัตราโทษ

ที่ให้เกิดความยำเกรง ***

กรกฎาคม 21, 2553

ยินดีต้อนรับค่ะ

สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับเข้าสู่มุมระเบียบกฎหมาย ในเวปไซด์เทศบาลตำบล

เวียงชัย ซึ่งในแต่ละสัปดาห์ จะได้นำเรื่องราวที่เกี่ยวกับข่าวสารระเบียบ

กฎหมาย หรือนานาสาระซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของทุกท่าน ไม่ว่าจะ

โดยทางตรงหรือทางอ้อม ตลอดถึงความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับงานนิติการ

สำนักงานเทศบาลตำบลเวียงชัย



นับเป็นโอกาสดีที่จะได้มีส่วนในการนำเสนอ เผยแพร่ สิ่งละอันพันละน้อย

ที่จะเกิดประโยชน์แก่ผู้อ่าน และยินดีร่วมรับฟังปัญหา ยินดีให้คำแนะนำ

และข้อเสนอแนะ ตลอดถึงคำติชมเกี่ยวกับมุมระเบียบกฎหมาย

เพื่อเราจะได้พัฒนารุปแบบและสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ที่มีประโยชน์

แก่ผู้อ่านต่อไปค่ะ