สิงหาคม 26, 2553

ศัพท์ภาษาอังกฤษ นิติศาสตร์ (2)





damage  =  ความเสียหาย

damages  =  ค่าเสียหาย

day of settlement of issues  =  วันชี้สองสถาน

death certificate  =  มรณบัตร

debt  =  หนี้สิน

debtor  =  ลูกหนี้

deceased, decedent  =  ผู้ตาย, ผู้มรณะ

decision  =  คำวินิจฉัย

deed of appointment  =  ใบแต่งทนาย

defamation  =  ความผิดฐานหมิ่นประมาท

default  =  การผิดนัด, การขาดนัด

default of answer  =  ขาดนัดยื่นคำให้การ

defendant  =  จำเลยในคดีแพ่ง

defraud  =  ฉ้อโกง,  ฉ้อฉล

denial  =  การปฏิเสธ, คำปฏิเสธ

depostition  =  การให้การของพยาน, คำให้การ

descendant, posterity  =  ผู้สืบสันดาน

detaining for questioning  =  การควบคุมตัวไว้เพื่อสอบปากคำ

dilatory  =  ประวิงเวลา

diplomatic privilege  =  เอกสิทธิ์ทางฑูต

disappearance  =  การสาบสูญ

discharge  =  ปล่อยตัว (ป.วิอาญา), ปลดหนี้ ทำให้หลุดพ้น (แพ่ง),

ปลดออก ให้ออก ให้พ้นจากตำแหน่ง (ปกครอง)

disinheritance  =  การติดมิให้รับมรดก

dismissal of action  =  การยกฟ้องคดีแพ่ง

dispose of the case  =  จำหน่ายคดี

divisible offence  =  ความผิดหลายสถาน, ความผิดกรรมเดียวที่ผิด

กฎหมายหลายบท

divorce  =  การหย่า

docket  =  รายงานกระบวนพิจารณาของศาล

documentary evidence  =  พยานเอกสาร

domicile  =  ภูมิลำเนา

driving licence  =  ใบอนุญาตขับขี่, ใบอนุญาตขับรถ

driving while intoxicated  =  การขับรถขณะมึนเมา

duplicity  =  การฟ้องซ้ำ

duress  =  การขู่เข็ญว่าจะทำร้าย (อาญา), การข่มขู่ (แพ่ง

duty of care  =  หน้าที่ดูแล, หน้าทื่ใช้ความระมัดระวัง

dying declaration, death-bed declaration  =  คำให้การขณะใกล้ตาย

dynasty  =  ราชวงศ์

election  =  การเลือกตั้ง

embezzlement  =  การยักยอก

Emergency Decree, Royal ordinary  =  พระราชกำหนด

employee  =  ลูกจ้าง

employer  =  นายจ้าง

enactment  =  การตรากฎหมาย

enforcement of mortgage  =  การบังคับจำนอง

enforcement of pledge  =  การบังคับจำนำ

entry a charge  =  ยื่นฟ้อง (คดีอาญา)

eviction  =  การฟ้องขับไล่, การรอนสิทธิ

executing officer  =  เจ้าพนักงานบังคับคดี

expert  witness  =  พยานผู้เชี่ยวชาญ

extradition  =  การส่งผู้ร้ายข้ามแดน

eye witness  =  ประจักษ์พยาน

false testimony  =  การเบิกความเท็จ

fiction of law, legal assumption  =  ข้อสันนิษฐานของกฎหมาย

fine  =  ค่าปรับ

fingerprints  =  ลายพิมพ์นิ้วมือ

firearm  =  อาวุธปืน

Fiscal  Code  =  ประมวลรัษฎากร

forcible rape, rape  =  การข่มขืนกระทำชำเรา

forged signature  =  ลายมือชื่อปลอม

fraudulent act  =  การฉ้อฉล

free speech, freedom of speech  =  เสรีภาพในการพูด

fruit  =  ดอกผล

full court  =  ศาลครบองค์คณะ

full power, letters of attorney, power of attorney, written authority  =

หนังสือมอบอำนาจ

funeral expenses  =  ค่าปลงศพ, ค่าทำศพ







Credit : ศัพท์นิติศาสตร์ อังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ


ฉบับราชบัณฑิตยสถาน

สิงหาคม 25, 2553

ศัพท์ภาษาอังกฤษ นิติศาสตร์ (1)



วันนี้พบกับศัพท์ภาษาอังกฤษ สำหรับนักกฎหมายซึ่งนำมาฝาก

สำหรับคำที่น่าสนใจนะคะ 

abiding conviction   =   คำพิพากษาลงโทษในคดีอาญา

abortion    =   การทำให้แท้งลูก

absconding by person released on bail  =   การหลบหนีระหว่างประกัน

absent  person  =  ผู้ไม่อยู่

absolute  presumption  =  ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด

absolution  =  การพิพากษาว่าไม่ได้กระทำความผิด

abuse of power  =  การใช้อำนาจโดยมิชอบ

abuse of function = การปฏิบ้ติหน้าที่โดยมิชอบ

accumulative judgment  =  คำพิพากษาให้นับโทษต่อ

acknowledgment of debt =  การรับสภาพหนี้

act in good faith  =  กระทำโดยสุจริต

action = อรรถคดี, การฟ้องคดี, การกระทำ

act of indemnity  =  กฎหมายยกเว้นความผิด

administrative act  =  การกระทำทางปกครอง

administrative law =  กฎหมายปกครอง

admissible  evidence  =  พยานหลักฐานที่รับฟังได้

adopted child, protected child  =  บุตรบุญธรรม

adopter  =  ผู้รับบุตรบุญธรรม

amnesty  =  นิรโทษกรรม

arbitrator  =  อนุญาโตตุลาการ

arrest  =  จับกุม, การจับกุม

arrested  person  =  ผู้ถูกจับกุม,  ผู้ถูกจับ

arrestor, arrester  =  ผู้จับกุม

assent,  consent  =  ความยินยอม

attain of majority, come of age  =  บรรลุนิติภาวะ

attorney at law  =  ทนายความ

Attorney-General  =  อัยการ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

auction, public auction  =  การขายทอดตลาด

averment  =  การบรรยายฟ้อง

bad dept  =  หนี้สูญ

bail  =    การประกันตัว (ในคดีอาญา),  การวางประกันความเสียหาย (คดีแพ่ง)

bankrupt  =  บุคคลล้มละลาย

bankruptcy  =  การล้มละลาย

barristor-at-law   =  เนติบัณฑิต

bench warrant  =  หมายจับของศาล

benefit of doubt  =   ประโยชน์แห่งความสงสัย (ที่ยกให้แก่จำเลย)

beyond control  =  พ้นอำนาจ, พ้นวิสัย

boycott  =  คว่ำบาตร

bribe  =  สินบน

by law, bye law  =  เทศบัญญัติ, ข้อบัญญัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

by mistake  =  โดยสำคัญผิด

cancellation  =  การเพิกถอน, การบอกเลิก

casus fortuitus, act of God, cas fortuit, force majeure  =  เหตุสุดวิสัย

challenge of judges  =  การคัดค้านผู้พิพากษา

Civil and Commercial Code  =  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

civil and penal actions  =  คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา

civil servant, civil officer  =  ข้าราชการพลเรือน

community  property = ทรัพย์สินร่วมระหว่างสามีภริยา

complaint  =  ร้องทุกข์, คำร้องทุกข์

concealed fraud  =  นิติกรรมอำพราง

confession  =  การสารภาพ, คำสารภาพ

confession and avoidance  =  การภาคเสธ, การแบ่งรับแบ่งสู้

confinement, incarceration  =  การกักขัง

confinement in lien  =  การกักขังแทนค่าปรับ

creditor  =  เจ้าหนี้

criminal association  =  ซ่องโจร

criminal  case  =  คดีอาญา

criminal code, penal code  =  ประมวลกฎหมายอาญา

criminal  damage, malicious damage  =  ควมผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

criminal  liability   =   ความรับผิดทางอาญา

cross-examination  =  การถามค้าน

cruelty  =  การกระทำทารุณโหดร้าย

customary law  =  กฎหมายจารีตประเพณี




Credit :  ศัพท์นิติศาสตร์ อังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ

  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน








                         









สิงหาคม 17, 2553

คำพิพากษาฎีกา กฎหมายอาญา

วันนี้หยิบเอาคำพิพากษาฎีกากฎหมายอาญามาฝากค่ะ



ฎ.8335/2547 ขณะที่เจ้าพนักงานตรวจค้นยาเสพติดให้โทษ จำเลยลง

จากเครื่องบินมาอยู่ในอาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานกรุงเทพ เพื่อจะไป

ขึ้นเครื่องบินอีกลำหนึ่ง จำเลยจึงเข้ามาในราชอาณาจักรไทยแล้ว เมื่อจำเลยมี

ยาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งตามกฎหมายไทย

บัญญัติว่าเป็นความผิดจำเลยจึงเป็นผู้กระทำความผิดในราชอาณาจักร

ต้องรับโทษตามกฎหมายไทยตามปอ. มาตรา 4

ข้อสังเกต ข้อเท็จจริงตามฎีกานี้ ปรากฏว่าผู้กระทำความผิดถูกจับในข้อหามี

ยาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครอบเพื่อจำหน่ายในขณะที่ผู้กระทำผิดลงจาก

เครื่องบินมาอยู่ในอาคารผู้โดยสารของท่าอากาศกรุงเทพแล้ว จึงต้องด้วย

กรณีตามมาตรา 4 วรรคแรก


ฎ 6742/2547 การที่จำเลยซึ่งอยู่ในฝั่งประเทศไทยตะโกนข้ามแม่น้ำเหืองที่

กั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตย

ประชาชนลาว สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนและกัญชาจากพวกของจำเลย

ที่อยู่ที่ฝั่งลาว โดยจำเลยไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศ แม้พวกของจำเลย

จะนำเมทแอมเฟตามีนและกัญชาดังกล่าวข้ามเขตมามอบให้ก็น่าเป็นเพราะ

จำเลยสั่งซื้อ ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้สั่งซื้อ ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ก่อให้พวกล

ของจำเลยนำเข้าซึ่งยาเสพติดให้โทษตาม ปอ.มาตรา 84 มิใช่เป็นตัวการ

ร่วมกระทำความผิดด้วยกันตามมาตรา 83ดังที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งเป็นการ

แตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ ย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ให้

กระทำความผิดไม่ได้ตาม ป.วิ.อ มาตรา 192 วรรคสอง   แต่การตะโกน

สั่งซื้อของจำเลยดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน

การกระทำความผิดตาม ปอ.มาตรา 86 ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษฐานเป็น

ผู้สนับสนุนได้



ฎ 4905/2548 การจะถือว่าความผิดใดได้กระทำในราชอาณาจักรตาม

ปอ.มาตา 5 ก็ต่อเมื่อส่วนหนึ่งส่วนใดของความผิดได้กระทำในราชอาณาจักร

หรือผลแห่งการกระทำเกิดในราชอาณาจักร คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องระบุว่าเหตุ

ทุกข้อหาเกิดที่บริเวณตำบลใดไม่ปรากฏชัด อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร

แต่ทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า เหตุเกิดในเขตต่อเนื่องของประเทศไทย

ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดของความผิดในราชอาณาจักรและผลแห่งการกระทำ

ก็ได้เกิดในราชอาณาจักร จึงถือว่าจำเลยกระทำความผิดใน

ราชอาณาจักรไม่ได้



ฎ 6516/2537 ความผิดฐานปล้นทรัพย์และฆ่าผู้อื่นเกิดขึ้นในทะเลหลวงนอก

ราชอาณาจักร ศาลไทยจะลงโทษผู้กระทำผิดที่เป็นคนไทยในข้อหาความผิด

ต่อชีวิตตามมาตรา 8 (4) ได้ต่อเมื่อผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษตาม ปอ.

มาตรา 5 (2) ดำเนินการร้องขอให้ศาลไทยลงโทษ จึงลงโทษจำเลยฐานฆ่า

ผู้อื่นไม่ได้

ข้อสังเกต คดีนี้ปัญหาที่ต้องวินิจฉัย คือ ศาลไทยจะลงโทษจำเลยใน

ความผิดฐานใดได้บ้าง ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเป็นความผิดต่อชีวิต ศาลไทย

จะลงโทษผู้กระทำความผิดที่เป็นคนไทยตาม ปอ.มาตรา 8 (4)ได้ ต่อเมื่อ

ผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษตาม ปอ.มาตรา 8 (ก) แต่คดีนี้ไม่ปรากฏ

แน่ชัดว่าผู้ตายเป็นใคร ทั้งไม่มีผู้มีอำนาจจัดการแทนตามมาตรา 5(2)

ได้ดำเนินการร้องขอให้ศาลลงโทษ จึงลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้อื่นไม่ได้

 ส่วนความผิดฐานปล้นทรัพย์และพยายามฆ่า ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์จำเลย

ซึ่งกระทำความผิดในข้อหาปล้นทรัพย์และพยายามฆ่าผู้เสียหาย ศาลไทย

จึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดทั้งสองฐานนี้ได้


ฎ 801/2505 ประชุมใหญ่ คดีที่จำเลยเป็นคนสัญชาติไทย กระทำผิดฐาน

ปล้นทรัพย์นอกราชอาณาจักร ซึ่งผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษจำเลยภายใน

ราชอาณาจักร ต้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 8 นั้น โจทก์ก็ไม่มี

หน้าที่ต้องนำสืบแสดงว่าไม่มีข้อห้ามมิให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 10 อีก



การริบทรัพย์สิน

ฎ. 6636/2551 ซองกระสุนปืนเป็นอาวุธปืนตามความหมายแห่ง

พรบ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียม

อาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4(1) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (2491)

ออกตามความใน พรบ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง

และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ข้อ 1 แม้ซองกระสุนปืนของกลางสามารถ

ใช้ร่วมกับอาวุธปืนของกลางที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้ก็ตาม

หากเป็นซองกระสุนปืนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตาม

กฎกระทรวงฉบับที่3 (พ.ศ.2491) ออกตามความใน พรบ.อาวุธปืน

เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490

ข้อ 2 (12) จำเลยจึงมีความผิดฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออก

ใบอนุญาตให้ไม่ได้ตาม พรบ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด

 ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง

 และซองกระสุนปืนของกลางเป็นทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดมีไว้

เป็นความผิด จึงให้ริบตาม ปอ.มาตรา 32



ฎ 7766/2544 อาวุธปืนของกลางเป็นของผู้ตาย การที่จำเลยหยิบอาวุธปืน

ของผู้ตายที่วางอยู่บริเวณที่เกิดเหตุขึ้นมายิงผู้ตายนั้น อาวุธปืนดังกล่าวยังอยู่

ในความครอบครองของผู้ตาย จำเลยไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ใน

ครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่เมื่ออาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืน

ไม่มีทะเบียน ผู้ใดมีไว้เป็นความผิดจึงต้องริบตาม ปอ.มาตรา 32

ข้อสังเกต อาวุธปืนไม่มีทะเบียน เป็นทรัพย์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใด

มีไว้เป็นความผิด ศาลจึงริบได แม้มิใช่ของผู้กระทำผิด แต่กหากเป็น

อาวุธปืนมีทะเบียนเพียงแต่ผู้ใช้ไม่ได้รับอนญาตให้พกพา ไม่ถือเป็นทรัพย์

ที่ทำหรือมีไว้เป็นความผิดอันจะพึงริบได้ ตามปอ.มาตรา 32


ฎ 5834/2550 ความผิดฐานประกอบกิจการให้เ แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย

เทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต สาระสำคัญของการกระทำ

ความผิดอยู่ที่การไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ดังนั้น

แผงเหล็กตั้งสินค้า สมุดบันทึกรายรับรายจ่าย ตะกร้า กล่องพลาสติก

ซองพลาสติก ผ้าปูโต๊ะ และ แผ่นซีดีก๊อปปี้ของกลางจึงมิใช่ทรัพย์สิน

ที่จำเลยทั้งสามได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำ

ความผิดฐานนี้ที่ศาลจะมีอำนาจริบตาม ปอ.มาตรา 33 (1)

สิ่งบันทึกเสียงและสิ่งบันทึกภาพและเสียงที่เจ้าพนักงานยึดไว้เป็นของ

กลางในคดีนี้มีทั้งที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายกับไม่ละเมิดสิทธิ์

ของผู้เสียหายรวมอยู่ด้วย และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามได้เงินสด

 1,750 บาท ของกลางมาโดยการขายงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย

ในคดีนี้ โดยมีการวางแผนล่อซื้อ จึงไม่ชัดเจนว่าจำเลยทั้งสามได้เงินจำนวน

ดังกล่าวมาจากการขายงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่เจ้าพนักงาน

ยึดไว้เป็นของกลางในคดีนี้ หรือเป็นเงินที่จำเลยทั้งสามได้มาจากการ

ขายงานอันละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือของผู้อื่นก่อนหน้านี้

ทั้งความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายเทปหรือ

วัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาตอยู่ที่จำเลยทั้งสามไม่ได้รับอนุญาตจาก

นายทะเบียน เทปหรือวัสดุโทรทัศน์ที่จำเลยทั้งสามร่วมกันมีไว้เพื่อ

ประกอบกิจการดังกล่าว มิใช่ทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำ

ความผิดฐานนี้ ดังนั้น  แม้เงินที่จำเลยทั้งสามได้รับมาเป็นค่าตอบแทน

การให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ตามฟ้อง ก็ไม่ใช่

ทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสามได้มาโดยการกระทำความผิดฐานนี้ จึงไม่อาจริบ

ตาม ปอ.มาตรา 333 (2)เช่นกัน




ฎ 671/2548 รถยนต์ของกลางเป็นพาหนะที่คนต่างด้าวโดยสาร เพื่อพา

คนต่างด้าวให้พ้นจากการจับกุม ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ทำหรือมีไว้เป็นความผิด

ตามปอ.มาตรา 32 ทั้งไม่ใช่ทรัพย์สินซึ่งได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้กระทำ

ความผิดตามปอ.มาตรา 33(1) รถยนต์ของกลางโดยสภาพมีไว้เพื่อบรรทุก

คนและสิ่งของจากที่หนึ่งไปยังที่อื่นอันเป็นวัตถุประสงค์ทั่วไป จึงริบรถยนต์

ของกลางไม่ได้




ฎ 3990/2549 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของ

เจ้าจองทรัพย์แท้จริง ซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด

ขอให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ริบภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษา

ถึงที่สุด มิได้กำหนดให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่

ถูกยึดทราบ  แม้พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งใหเจ้าของทรัพย์ที่ถูกยึดทราบ

ก็ตาม กำหนดเวลาดังกล่าวก็เริ่มนับแล้ว

การขอให้ศาลสั่งคืนของกลางที่ศาลสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 36 เป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญา เมื่อผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจ

ด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย จึงเป็นหน้าที่ของผู้ร้องที่จะต้องนำสืบ

ให้ไดความตามที่กล่าวอ้าง

ข้อสังเกต

1) ผู้ร้องขอคืนของกลางจะยกข้อต่อสู้ของจำเลยในคดีเรื่องอื่นอันมิใช่ประเด็น

เรื่องขอคืนของกลางมายกเป็นข้อต่อสู้โจทก์ไม่ได้

2) คำร้องขอคืนขอกลางต้องยื่นต่อศาลภายในหนึ่งปี นับแต่วันคำพิพากษา

ถึงที่สุด

3) ผู้ร้องขอคืนของกลงมีหน้าที่นำสืบตามที่กล่าวอ้างในคำร้องขอคืน

ของกลางที่ศาลริบ


ฎ 1995/2547 ขณะเกิดเหตุผู้ร้องให้บริษัท อ.เช่ารถยนต์บรรทุกของกลาง

ไป และเนื่องจากเป็นการเช่ารถพร้อมพนักงานขับรถมีกำหนด 1 ปี

ชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน เจ้าของรถผู้ให้เช่าย่อมไม่ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น

จากการที่รถต้องบรรทุกน้ำหนักเพิ่มขึ้น เพราะไม่ได้คิดค่าเช่าตามอัตรา

น้ำหนักบรรทุก ทั้งยัง มีข้อสัญญาห้ามผู้เช่านำรถที่เช่าไปใช้ในทางที่ไม่ชอบ

ด้วยกฎหมายอีกด้วย ผู้ร้องจึงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิดของ

จำเลย

ข้อสังเกต ผู้มีสิทธิร้องขอคืนของกลางต้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการ

กระทำความผิด เมื่อผู้ร้องเป็นเพียงผู้ให้เช่าทั้งในสัญญาเช่าทั้งในสัญญาเช่า

ยังห้ามนำรถที่เช่าไปใช้ในทางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อผู้เช่านำรถไปใช้

กระทำผิด ผู้ร้องจึงขอคืนรถได้







Credit : The Justice Group กลุ่มพลังวิชาการเพื่ออนาคต , เจาะหลัก-ฎีกา

อาญา ติวเข้ม 3 สนามสอบ เล่ม 1

สิงหาคม 07, 2553

7 สิงหาคม "วันรพี"

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์

กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์

วันประสูติ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2417

วันสิ้นพระชนม์ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2463

พระราชบิดา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระมารดา เจ้าจอมมารดาตลับ เกตุทัต

พระชายา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง

                                                         อรพัทธ์ประไพ (หย่า)

หม่อม หม่อมอ่อน รพีพัฒน์ ณ อยุธยา

หม่อมแดง รพีพัฒน์ ณ อยุธยา

หม่อมราชวงศ์สอางค์ ปราโมช

บุตร 13 พระองค์

ราชวงศ์ ราชวงศ์จักรี





พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์

(21 ตุลาคม พ.ศ. 2417 - 7 สิงหาคม พ.ศ. 2463)

ทรงเป็นต้นราชสกุลรพีพัฒน์ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จ

พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาตลับ เกตุทัต

 โดยทรงมีพระเชษฐภคินีคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัจฉรพรรณี

รัชกัญญา ทรงเป็นผู้วางรากฐานด้านกฎหมายในเมืองไทย จนได้รับ

พระสมัญญานามว่า "พระบิดาแห่งกฎหมายไทย"





พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ทรงเข้าศึกษาวิชาภาษาไทยครั้งแรกในสำนัก

พระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร) เมื่อทรงผ่านการศึกษาแล้วได้

ทรงเข้าศึกษาภาษาอังกฤษชั้นต้น ในสำนักครูราม สามิ และในปี พ.ศ. 2426

ได้ทรงเข้าศึกษา ภาษาไทยอยู่ในสำนักพระยาโอวาทวรกิจ (แก่น) เปรียญ

ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ ในปี พ.ศ. 2427 ได้ทรงผนวชเป็นสามเณรประทับ

อยู่วัดบวรนิเวศ





เมื่อปลายปี พ.ศ. 2431ได้เสด็จไปประเทศอังกฤษ และทรง

เข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมอยู่ในกรุงลอนดอน 3 ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้

ทรงเลือกศึกษาวิชา กฎหมายต่อที่วิทยาลัยไครส์ตเชิช

ในมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด เมื่อ พ.ศ. 2433 เมื่อได้ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัย

ไครส์ตเชิช แล้วได้ ทรงอุตสาหะเอาพระทัยใส่เป็นอย่างมาก ในที่สุดได้

ทรงสอบไล่ได้ตามหลักสูตรชั้นปริญญาเกียรตินิยม ในทางกฎหมายของ

มหาวิทยาลัยแห่งนั้นจึงเสด็จกลับกรุงเทพฯ

ทางด้านชีวิตส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง

โปรดเกล้าฯ ให้ทรงเสกสมรสกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงอรพัทธ์

ประไพพระธิดาองค์ใหญ่ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี

กรมพระจักรพรรดิพงศ์ แต่ทรงมีชีวิตร่วมกันเพียงไม่นานก็หย่าขาดจากกัน

หลังจากนั้นกทรงรับหม่อมอ่อนเป็นชายา หลังจากนั้นทรงมีหม่อมอีก

 2 พระองค์ คือ หม่อมแดงและหม่อมราชวงศ์สอางค์ ปราโมช สิ้นพระชนม์

ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2463 พระชนมายุ 47 ปี






พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงเริ่มรับราชการในสำนักราชเลขาธิการ และได้รับ

แต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี ทรงประกอบพระกรณียกิจ อันเป็นคุณประโยชน์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อวงการกฎหมายไทยและศาลสถิตยุติธรรม ทรงดำรง

ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม และสภานายกในกองข้าหลวงพิเศษ จัดการ

ปรับปรุงศาลยุติธรรมสู่ระบบใหม่ จัดตั้งศาลมณฑล และศาลจังหวัดทั่วประเทศ,

ทรงเป็นประธานกรรมการตรวจชำระกฎหมาย ประมวลขึ้นเป็นกฎหมายอาญา

ฉบับ ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) , ทรงตั้งโรงเรียนกฎหมายเพื่อเปิดการ

สอนกฎหมาย ทรงรวบรวมและแต่งตำราคำอธิบายกฎหมายลักษณะต่างๆ

มากมาย และทรงสอนวิชากฎหมายด้วยพระองค์เอง, ทรงเป็นกรรมการตรวจ

ตัดสินความฎีกาซึ่งเทียบได้กับศาลฎีกาในปัจจุบัน, เมื่อ พ.ศ. 2443 ทรงตั้ง

กองพิมพ์ลายมือขึ้น สำหรับตรวจลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหาในคดีอาญา

ตำแหน่งสุดท้ายทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ทรงปรับปรุงกิจการ

กรมทะเบียนที่ดิน



การรับราชการในตำแหน่งที่สำคัญ

เริ่มรับราชการในสำนักราชเลขานุการ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี

-เป็นสภานายกในกองข้าหลวงพิเศษ เพื่อจัดการแก้ไขธรรมเนียมศาลยุติธรรม

หัวเมืองทั้งปวง และสะสางคดีความทั่วราชอาณาจักร

-เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ในขณะที่มีพระชนม์มายุเพียง 22 ชันษาเท่านั้น

พระองค์ได้ทรงมุ่งมั่นในการปรับปรุงแก้ไขระเบียบศาล และงานยุติธรรมของ

ประเทศไทยให้มีความเจริญก้าวหน้าเท่าทันต่างประเทศ นับว่าพระองค์

ทรงเป็นเสนาบดีที่ทรงมีพระชนมายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย

-เป็นประธานกรรมการตรวจชำระกฎหมาย

-เป็นกรรมการตรวจตัดสินความฎีกา

-เป็นกรรมการตรวจตำแหน่งพนักงานในรัฐบาล

-เป็นกรรมการตรวจร่างกฎหมายลักษณะอาญา

-ในปีพุทธศักราช 2455 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณา

โปรดเกล้าฯ ให้เสร็จในกรม ฯ กลับรับราชการเป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตรธิการ

ตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 4 มีนาคม พุทธศักราช 2455 และทรง

ดำรงตำแหน่งเพียงปีเดียวก็ได้รับพระบรมราชโองการเลื่อนขึ้นเป็นพระเจ้า

พี่ยาเธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน

พุทธศักราช 2455


ใน พ.ศ. 2440 พระองค์ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนสอนกฎหมายในประเทศไทย

ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยยืมสถานที่ของกระทรวงยุติธรรมเป็นสถานที่สอน ในการ

ดำเนินการสอนของพระองค์ท่านได้ประสบปัญหาอย่างมาก เนื่องจาก

ในขณะนั้นประเทศไทยยังไม่มีบุคคลากรที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายนัก

พระองค์จึงทรงต้องคัดเลือกและสอนนักเรียนเองทุกวิชา แต่พระองค์ก็ไม่เคย

ย่อท้อแม้แต่น้อย จนกระทั่งปลาย พ.ศ. 2440 จึงเปิดให้สอบไล่ในระดับชั้น

เนติบัณฑิตเป็นครั้งแรก เพื่อให้เนติบัณฑิตเหล่านี้ได้นำสิ่งที่เรียนมาไป

แบ่งเบาภาระของพระองค์

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งสำหรับศาลไทยในเวลานั้น คือ เรื่องของศาลกงสุลต่างชาติ

ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในเมืองไทยเป็นที่รู้กันว่าชาวต่างพวกนี้มีอำนาจ

อิทธิพลมากเวลาเกิดคดีความ ข้อโต้แย้งขึ้นมาก คนไทยมักตกเป็นฝ่าย

เสียเปรียบ เพราะชาวต่างชาติมักอ้างว่ากฎหมายยังล้าหลังไม่ทันสมัยเพื่อเป็น

ข้ออ้างเอาเปรียบคนไทย ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้พิพากษาและ

เจ้าหน้าที่ศาลไทยยังไม่พร้อมที่จะรับข้อกฎหมายใหม่ ๆในเวลานั้น

พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ทรงแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยการจ้างชาวต่างชาติมาเป็น

ผู้พิพากษาเป็นเหตุให้ผู้พิพากษาศาลไทยเกิดความกระตือรือร้นเร่งศึกษาวิชา

กฎหมายไทยและต่างประเทศทำให้ศาลไทยมีความเชื่อถือมากขึ้นและเป็นที่

ยอมรับของชาวต่างชาติ ถึงกับยกเลิกศาลกงสุลยอมให้คนชาติตัวเองมาขึ้น

ศาลไทยในส่วนการแก้ไขตัวบทกฎหมายนั้น ได้ทรงกราบบังคมทูล

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัวให้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

คณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ตรวจชำระพระราชกำหนด

บทพระอัยการ ตลอดจนจัดระเบียบกฎหมายที่ใช้มาเป็นเวลานานจนล้าสมัย

เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสศึกษาและเข้าใจตัวกฎหมายได้ง่ายขึ้น และเพื่อ

สะดวกต่อการพิจารณาคดีทั้งปวง คณะกรรมการชุดที่ว่านี้ประกอบไปด้วย

 ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายทั้งฝ่ายไทยและต่างประเทศโดยทรงเป็นองค์ประธาน

คณะกรรมการเองการยกเครื่องกฎหมายในครั้งนั้น  กล่าวได้ว่า ทรงเป็น

หัวเรือใหญ่ในการร่างกฎหมายอย่างแท้จริง จนประสบความสำเร็จเป็น

ประมวลกฎหมายไทยฉบับแรก ซึ่งต่อมาเมื่อมีการประกาศการใช้กฎหมายแล้ว

 ยังได้ทรงเขียนอธิบายตัวบทกฎหมายให้มีความเข้าใจได้อย่างชัดเจน

ยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อสะดวกต่อการศึกษา และให้เกิดการตีความตรงกับเจตนารมณ์

ของผู้ร่างอันถือเป็นรากฐานสำคัญของการก่อตั้งวิชานิติศาสตร์ของ

มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในปัจจุบันต่อมาคณะกรรมการชุดดังกล่าวยังได้

ตรากฎหมายขึ้นมาใช้อีกหลายฉบับจนกระทั่งได้ยกฐานะเป็น

กรมร่างกฎหมายและพัฒนากลายมาเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกาในทุกวันนี้

นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2441 ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นกรรมการในศาล

กรรมการฎีกาหรือศาลฎีกาในปัจจุบัน มีหน้าที่คอยตรวจตัดสินความฎีกา

ซึ่งเป็นศาลสูงสุดของประเทศ "ชีวิตของฉันเกิดมาเพื่อรับใช้ประเทศชาติ"

จะเห็นได้ว่าตลอดเวลาที่อยู่ในตำแหน่งเสนาบดี 14 ปีได้ทรงปฏิบัติหน้าที่

อย่างเต็มพระกำลังสามารถและมีพระวิริยะอุตสาหะในการทำงานมาโดยตลอด

โดยไม่ได้ย่อท้อต่ออุปสรรคและความเหน็ดเหนื่อย





ในปี พ.ศ. 2462ได้ทรงได้รับพระราชทานอนุญาต ให้ลาพักราชการใน

ตำแหน่งเสนบดีกระทรวงเกษตราธิราชเพื่อรักษาพระองค์ด้วย ทรงประชวรด้วย

พระวัณโรคที่พระวักกะ และเสด็จไปรักษาพระองค์ ณ กรุงปารีส

แต่อาการหาทุเลาไม่ ในที่สุดได้เสด็จสิ้นพระชนม์ ณ กรุงปารีส

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2463 พระชนมายุได้ 47 พรรษา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงเป็นนักนิติศาสตร์

ผู้ยึดมั่นใน ความซื่อสัตย์สุจริตอย่างยิ่งยวด ทรงถือว่าความซื่อสัตย์สุจริต

 เป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะสำหรับนักกฎหมาย และทรงจัดตั้ง

โรงเรียน กฎหมายและเป็นผู้สอนวิชากฎหมายด้วย พระองค์เอง เพื่อที่จะให้มี

ผู้รู้กฎหมายมากขึ้นทรงจัดวางระเบียบศาลยุติธรรมสู่ระบบใหม่

ทรงรวบรวมกฎหมาย และคำพิพากษาฎีกาพร้อมแต่งตำราอธิบายกฎหมายต่าง ๆ

 มากมายการค้นคว้ารวบรวมและพระนิพนธ์ได้เป็นรากฐานก่อตั้งการศึกษา

นิติศาสตร์ขึ้นในประเทศไทยอันเป็นประโยชน์ใหญ่ยิ่งแก่ประเทศชาติจึงทรง

ได้รับยกย่องให้เป็น "พระบิดาแห่งกฎหมายไทย" และเรียกวันที่ 7 สิงหาคม

อันเป็นคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ ทุกปีว่า "วันรพี"














คนเราควรจะให้ แต่ไม่ควรจะขออะไรจากคนอื่น

ควรจะกินพอประมาณ ไม่ควรจะมากไปถึงกับท้องกาง

ควรจะช่วยเหลือคนอื่น ไม่ใช่เหยียบย่ำ

ควรรับใช้ ไม่ควรคิดเป็นนายคน......
 














CREDIT    คลังปัญญาไทย


                   วิกิพีเดีย

สิงหาคม 06, 2553

กฎหมายอาญา (2)










วันนี้มาต่อกับสรุปคำบรรยายของท่านอาจารย์ ดร.เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์

ในส่วนของกฎหมายอาญาภาคทั่วไป เรื่องโครงสร้างความรับผิดทาง

อาญากันต่อนะคะ

บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อ

1) การกระทำครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติ

2) การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด

3) การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ


1)การกระทำครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติ

หมายความว่า

1.1 จะต้องมีการกระทำ

1.2 การกระทำครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดในเรื่องนั้น ๆ

1.3 การกระทำครบองค์ประกอบภายในของความผิดในเรื่องนั้น ๆ

1.4 ผลของการกระทำจะต้องสัมพันธ์กับการกระทำตามหลักในเรื่องความสัมพันธ์

ระหว่างการกระทำและผล (ฎ2803/2550)


2. การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด

ในประมวลกฎหมายอาญาที่โดดเด่นที่สุดคิดเร่องการป้องกันตามมาตรา 68

มาตรา 68 บัญญัติว่า "ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของ

ผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้าย อันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็น

ภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกัน

โดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด"

ในการวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาต้องดำเนินการตามโครงสร้างความรับผิด

เป็นขั้นตอนไป จะไม่เกิดความสับสน

คำถาม นายแดงก่อเหตุขึ้นก่อนโดยใช้ปืนยิงนายดำ นายดำกลัว

จึงใช้ปืนของตนยิงนายแดงตาย นายดำมีเจตนาฆ่านายแดงหรือไม่

คำตอบ บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาต่อเมื่อการกระทำครบ

องค์ประกอบตามที่กฎหมายบัญญัติ การที่ดำใช้ปืนยิงแดงถือว่านายดำมี

การกระทำ การกระทำของดำครบองค์ประกอบภายนอก ตามความผิดใน

มาตรา 288


ความผิดอาญาแต่ละฐานแบ่งองค์ประกอบภายนอกออกเป็น 3 ส่วน

1) ผู้กระทำ 2) การกระทำ 3) วัตถุแห่งการกระทำ

มาตรา 288 บัญญัติว่า "ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษ..."

การกระทำของดำจึงครบองค์ประกอบภายนอกของมาตรา 288

ดำจะมีความผิดตามมาตรา 288 เมื่อมีเจตนาฆ่าแดง


หลักในการวินิจฉัยว่าผู้กระทำมีเจตนากระทำความผิดฐานใดได้หรือไม่

1) ผู้กระทำต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิดของฐาน

นั้น ๆ หลักนี้มาจากมาตรา 59 วรรคสาม

2) ผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือมิฉะนั้นต้องเล็งเห็นผล หลักนี้มาจากมาตรา 59

วรรคสอง

การที่ดำใช้ปืนยิงแดง ดำรู้หรือไม่ว่ากระทำของตนเป็นการฆ่า ดำรู้หรือไม่ว่าแดง

เป็นผู้อื่น ถือว่าดำรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายในของมาตรา 288

ประเด็นต่อไป ขณะที่ดำยิงแดง ถือว่าดำประสงค์ให้แดงตาย ความตายของแดง

สัมพันธ์กับการกระทำโดยมีเจตนาฆ่าของดำหรือไม่

กรณีนี้ไม่ต้องใช้หลักผลธรรมดา เพราะเป็นผลที่ทำให้ดำต้องรับโทษหนักขึ้น

แต่กรณีดำกับแดง ความตายของแดงไม่ใช่ผลที่ทำให้ดำต้องรับโทษหนักขึ้น

ให้ใช้คำว่าผลโดยตรง


เห็นได้ว่า แม้การกระทำของดำต่อแดงครบองค์ประกอบความผิด แต่ว่าดำไม่ต้อง

รับผิดในความตายของแดง เพราะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเรื่อง

ป้องกันเป็นกรณีที่กฎหมายยกเว้นความรับผิดให้กฎหมายยกเว้นความผิด

มีหลายกรณี

1)กฎหมายยกเว้นความผิดอาจอยู่ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 68

การป้องกัน หรือทำแท้งตามมาตรา 305

2) กฎหมายยกเว้นความผิดไม่จำเป็นจะต้องบัญญัติไว้เป็นลายล้กษณ์อักษร

เช่น หลักเรื่องความยินยอม ไม่ได้มีบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแต่เมื่อปี

พ.ศ.2508 ศาสตราจารย์ (พิเศษ) จิตติ ติงศภัทิย์ ท่านได้วินิจฉัยไว้ใน

คำพิพากษาฎีกาที่ 1403/2508 ว่าความผิดอาญาบางฐานความยินยอมอาจจะ

ยกเว้นความผิดได้ ถ้าความยินยอมไม่ขัดต่อสำนึกในศีลธรรมอันดีเพราะฉะนั้น

จึงเป็นที่เข้าใจกันว่าการที่แพทย์ผ่าตัดคนไข้ การที่นักมวยชกกันตามกติกาบนเวที

แม้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจโดยเฉพาะอย่างยิ่ง

กรณีแพทย์ผ่าตัดคนไข้ถ้าคนไข้ถูกตัดแขน เสียแขนเสียขา อันเป็นผลจาก

การผ่าตัด แพทย์จึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้

ได้รับอันตรายสาหัส เพราะความยินยอมของคนไข้ยกเว้นความผิดให้แก่แพทย์ได้

เป็นความยินยอมที่ไม่ขัดต่อศึลธรรมอันดี หลักนี้ไม่มีบัญญัติไว้ ต่างจากหลัก

ความยินยอมของประเทศเยอรมันที่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่าถ้าไม่ขัด

ต่อหลักศีลธรรมอันดียกเว้นความผิดฐานทำร้ายร่างกายได้


จากหลักในคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวนี้ไม่ถือว่าขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 2 บัญญัติว่า "บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการ

อันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้และ

โทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย..."

เนื่องจากหลักยินยอมนี้เป็นหลักกฎหมายทั่วไปนำมาใช้เพื่อยกเว้นความผิด

ไม่ได้นำมาใช้เพื่อลงโทษ


3) กฎหมายยกเว้นความผิดอาจอยู่ในรธน.ก็ได้ เช่น รธน.ที่ให้เอกสิทธิ์แก่

สมาชิกรัฐสภา. ในการแถลงข้อเท็จจริงแสดงความคิดเห็นในรัฐสภา

4) กฎหมายยกเว้นความผิดอาจอยู่ใน ปพพ. ก็ได้ ตัวอย่าง ม. 1347

ถ้ารากไม้ของต้นไม้ของนายแดงรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของนายดำ นายดำตัดรากไม้

ทำให้ต้นไม้ของนายแดงตาย นายดำมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์หรือไม่


บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อ

1)การกระทำครบองค์ประกอบ

1.1 ต้องมีการกระทำ มีเจตนา และประสงค์ต่อผล

2) ครบองค์ประกอบภายนอกทำให้เสียทรัพย์เป็นการทำลาย ทำให้เสียหาย

ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น

ครบองค์ประกอบภายในตามมาตรา 358 มีเจตนา รู้ว่าเป็นการทำลายรู้ว่าเป็น

ทรัพย์ของผู้อื่นประสงค์ต่อผล ผลคือการที่ต้นไม้ของนายแดงตายเป็นผลโดยตรง

จากการกระทำของนายแดง

การกระทำของนายดำต่อนายแดงครบองค์ประกอบตามมาตรา 358แต่นายดำ

ไม่ต้องรับผิดเพราะมีกฎหมายยกเว้นความผิด ปพพ.มาตรา 1347ซึ่งใช้คำว่า

เจ้าของที่ดินอาจตัดรากไม้แสดงว่ามีสิทธิ มีอำนาจกระทำได้ หลักอย่างเดียวกับ

ป้องกันตามมาตรา 68 เพียงแต่การป้องกันบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา

กฎหมายยกเว้นความผิด บัญญัติไว้ในปพพ.ก็ได้ เช่น มาตรา 1347


มาตรา 362 เรื่องบุกรุก คำพิพากษาฎีกาที่ 1/2512 จำเลยใช้ไม้กระดาน

ตีขวางทับประตูห้องพิพาทที่โจทก์ครอบครองในขณะที่โจทก์ไม่อยู่และ

ปิดห้องไว้ ทำให้โจทก์เข้าห้องไม่ได้เป็นล่วงล้ำเข้าไปในอำนาจการครอบครอง

ของโจทก์ถือได้ว่าเข้าไปรบกวนการครอบครองของโจทก์โดยปกติสุข

ตาม ปอ.มาตรา 362 แล้ว


ข้อเท็จจริงของฎีกานี้ โจทก์เป็นผู้เช่า และจำเลยเป็นผู้ให้เช่า ครบกำหนดตาม

สัญญาเช่า โจทก์ไม่ยอมออกจากห้องที่เช่า จำเลยจึงอยากได้ห้องพิพาทนั้นคืน

ช่วงที่ผู้เช่าไม่อยู่ออกไปจากห้องผู้ให้เช่าจึงใช้ไม้กระดานตีขวางทับประตูห้อง

ที่ให้เช่า คดีถึงศาลฎีกา ว่าการที่ผู้ให้เช่าใช้ไม้กระดานตีขวางทับประตูห้องที่ให้

ผู้เช่าเช่าอยู่ทำให้ผู้เช่าเข้าไปในห้องเช่าไม่ได้เป็นบุกรุกหรือไม่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า

เป็นบุกรุก เพราะเป็นการล่วงล้ำเข้าไปในอำนาจการครอบครองของผู้เช่า

ถือได้ว่าเข้าไปรบกวนการครอบครองของผู้เช่าโดยปกติสุข ฎีกานี้ยังเป็น

บรรทัดฐานจนถึงปัจจุบันว่าอย่างไรก็ตามแม้ไม่ได้เข้าไปในห้องแต่หากเอาโซ่

ไปล่าม เอากุญแจไปคล้อง เอาไม้ไปปิดผู้ให้เช่ามีความผิดฐานบุกรุก

เมื่อคำวินิจฉัยเช่นนี้ยังมีบรรทัดฐานอยู่ ผู้ให้เช่าจึงหาทางออกด้วยการทำบันทึก

ข้อตกลงว่าถ้าผู้เช่าผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าผู้เช่ายอมให้ผู้ให้เช่ามีอำนาจใส่กุญแจ

ไปใส่ห้องที่ให้เช่าได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าผู้ให้เช่าไม่มีความผิดฐานบุกรุก เพราะว่าอำนาจตามสัญญา

ทำให้ผู้ให้เช่ากระทำได้ไม่ใช่เพราะผู้เช่ายินยอม การยินยอมเกิดตอนทำสัญญาเช่า

แต่ขณะเกิดเหตุไมได้ยินยอม ฎีกาที่วินิจฉัยได้แก่ 2609/2521 5396/2549


คำพิพากษาฎีกาที่ 3025/41 การที่ผู้ให้เช่าไปเปิดประตูตึกแถวที่ให้เช่า

หลังจากนั้นจึงใช้กุญแจของผู้ให้เช่าปิดตึกแถวไว้ ย่อมเป็นอำนาจของผู้ให้เช่า

ที่จะกระทำได้ตามที่ได้ตกลงกันไว้ จึงหาเป็นความผิดฐานบุกรุกหรือทำให้

เสียทรัพย์ไม่ เพราะมีอำนาจกระทำได้ตามสัญญาเช่าข้อสัญญาดังกล่าวไม่ขัดต่อ

ความสงบเรียบร้อยของประชาชนและมิได้เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม แต่ถ้าขณะที่

ผู้ให้เช่ากำลังจะเอากุญแจมาปิด ผู้เช่าอนุญาต ไม่ต้องอ้างสัญญาเช่า

ถือว่ายินยอม ไม่เป็นบุกรุก แต่หากขณะเกิดเหตุ ผู้เช่าไม่ยินยอมผู้ให้เช่าก็

กระทำได้ตามข้อตกลงในสัญญาเช่าที่ผู้เช่าได้ยินยอมไว้แล้วในขณะทำสัญญาเช่า

ก่อนหน้านั้น

2.การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ

มีหลายกรณี เช่น การกระทำความผิดของเด็กอายุไม่เกิน 10 ปี อายุไม่เกิน15 ปี

ตามมาตรา 73 มาตรา 74 การกระทำความผิดด้วยความจำเป็นตามมาตรา 67

คนวิกลจริต มาตรา 65 คนมึนเมา มาตรา 66 คำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายของ

เจ้าพนักงานตามมาตรา 70 ความผิดเก่ยวกับทรัพย์บางความผิดที่กระทำในระหว่าง

สามีและภริยา มาตรา 71 วรรคแรก


3. เหตุลดโทษ

ผู้กระทำต้องรับผิดในทางอาญาแล้ว เพราะไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิดไม่มี

กฎหมายยกเว้นโทษ แต่ว่ากฎหมายใช้เหตุลดโทษ เหตุลดโทษมีหลายกรณี

ดังต่อไปนี้

1. ความไม่รู้กฎหมาย.ตามมาตรา.64

2. คนวิกลจริต มาตรา 65 วรรค 2

3. คนมึนเมา มาตรา 66

4. ป้องกัน จำเป็นเกิดขอบเขต มาตรา 69

5. การกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ระหว่างญาติสนิท 71 ว2

6. มาตรา 75 มาตรา 76

7. มาตรา 78

8. มาตรา 72


ส่งท้ายวันนี้กับคำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจนะคะ


ฎ 7552/2551 จำเลยเป็นบิดาของผู้เสียหาย คืนเกิดเหตุผู้เสียหายดื่มสุรา

จนเมา จำเลยได้ไล่ให้ผู้เสียหายไปนอนที่บ้าน ไม่ให้นอนที่กระท่อมของจำเลย

ผู้เสียหายไม่ยอมไป ได้ด่าจำเลยเสีย ๆ หาย ๆ ด่าว่า พ่อหัวควย พ่อเหี้ย พ่อสัตว์

ไม่รักลูก แล้วผู้เสียหายกลับออกไป 2 ถึง 3 นาที ได้กลับมาใหม่เพื่อมาเอา

ห่อยาเส้น จำเลยไล่ผู้เสียหายกลับไปนอนที่บ้านอีกครั้ง แต่ผู้เสียหายไม่ยอมไป

กลับด่าจำเลยเช่นเดียวกับครั้งแรกและด่าให้อวัยวะเพศชายอีก ทั้งผู้เสียหาย

มีมีดยาว 1 ศอกอยู่ในย่าม และท้าจำเลยให้ออกมาฟันกัน ประกอบกับโจทก์ฎีกา

รับว่า จำเลยโกรธแค้นที่ผู้เสียหายไม่เคารพยำเกรงและด่าจำเลยด้วยถ้อยคำ

หยาบคาย ดังนั้น การที่จำเลยซึ่งเป็นบิดาใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย กรณีจึงเป็น

การกระทำโดยบันดาลโทสะ



ฎ 8079/2549 จำเลยและผู้เสียหายมีสาเหตุขุ่นข้องหมองใจกันจนต่างฝ่าย


ต่างหวาดระแวงอีกฝ่ายจะมาทำร้ายตน ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่ผู้เสียหายเรียกชื่อ

จำเลยและชักอาวุธปืนออกมาจากเอว วิญญุชนเช่นจำเลยย่อมเข้าใจว่าผู้เสียหาย

จะใช้อาวุธปืนนั้นยิงจำเลย ถือได้ว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงตาม ป.อ.

มาตรา 68 แล้ว การที่จะเลยหยิบมีดพร้าที่วางอยู่พื้นถนนซึ่งเป็นของบุคคลอื่น

ฟันทำร้ายผู้เสียหายไปเพียงครั้งเดียวแล้ววิ่งหลบหนีไป จึงเป็นการกระทำเพื่อ

ป้องกันพอสมควรแก่เหตุเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

จำเลยจึงไม่มีความผิด






"ผมหงอก เป็นสัญลักษณ์ของอายุ ไม่ใช่ปัญญา"







สิงหาคม 05, 2553

กฎหมายอาญา (1)





สวัสดีค่ะ วันนี้ขอหยิบเอากฎหมายอาญามาลงให้ท่านได้อ่านกันนะคะ

โดยนำมาจากคำบรรยายของดร.เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์ หวังว่าคงเป็น

ประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะคะ



ความรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59-106 เป็นบทบัญญัติทั่วไปของ

ประมวลกฎหมายอาญา ที่จะนำไปใช้ในภาคความผิดและกฎหมายอื่น ๆ ที่มี

โทษในทางอาญา



ตัวอย่าง มาตรา 339 เรืองชิงทรัพย์

คำถาม นายแดงเอาปื่นขู่พนักงานที่ร้านสะดวกซื้อให้ส่งเงินให้ ปืนเกิดลั่นถูกพนักงาน

ถึงแก่ความตาย กรณีนี้นายแดงมีความผิดตาม ปอ.มาตรา 339

วรรค 5 หรือไม่

คำตอบ กรณีนี้ ปืนลั่นไปถูกพนักงาน ไม่มีเจตนาฆ่า ผิดฐานทำให้คนตายโดย

ประมาทตามมาตรา 291 แต่จะผิดมาตรา 339 หรือไม่ เพราะโทษหนัก

กว่า ม.291 มาก ถ้าจะผิดมีหลักอย่างไรในการวินิจฉัย จะใช้ประมวล

กฎหมายอาญาใดในการวินิจฉัย...

ในการตอบนี้ หลักอยู่ที่มาตรา 59 มาตรา 106 ในการใช้กฎหมายที่จะต้อง

แม่นยำ

มาตรา 339 วรรคท้าย ความตายเป็นผล ในกรณีที่มีผลของการกระทำ

เกิดขึ้น ผู้กระทำจะต้องรับผิดในผลนั้นก็ต่อเมื่อผลนั้นเป็นผลโดยตรง

หลักในผลโดยตรงไม่มีบัญญัติ แต่มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้หลายฎีกา

ความตายของพนักงานในร้านสะดวกซื้อเป็นผลโดยตรงจากการที่นายแดง

เอาปืนมาจี้พนักงานหรือไม่ เป็นเพราะอะไร ไม่เอาปืนไปจี้ ปืนก็ไม่ลั่น

ผลโดยตรงเพียงอย่างเดียวเพียงพอหรือ ที่จะทำให้นายแดงรับผิดตาม

มาตรา 339 คำตอบก็คือ จะต้องใช้บทบัญญัติในมาตรา 63 "ถ้าผลของ

การกระทำความผิดใดทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น ผลของการกระทำ

ความผิดนั้นต้องเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้" ใช้หลักผลโดยตรง

เพียงอย่างเดียวไม่พอต้องใช้ผลธรรมดาด้วย

ผลธรรมดา คือ ผลที่วิญญูชนคาดเห็นความเป็นไปได้ของผลนั้น

คาดเห็นไม่จำต้องถึงขั้นเล็งเห็นผล การที่นายแดงคนร้ายเอาปืนจี้

พนักงานร้านเขาประสงค์ต่อทรัพย์ นายแดงไม่ประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผล

แต่ต้องถือว่าการที่ปืนลั่นไปถูกพนักงานตายเป็นผลธรรมดาที่วิญญูชน

คาดเห็นถึงความเป็นไปได้ของผลนั้น เมื่อความตายของพนักงานเป็น

ทั้งผลโดยตรงและผลธรรมดา นายแดงจึงมีความผิดตามมาตรา 339

วรรคท้าย นอกเหนือจากความผิดตามมาตรา 291 และเมื่อผิด

ม.339 วรรคท้ายต้องรับโทษหนักขึ้นอีกกึ่งหนึ่ง เพราะมีการใช้อาวุธปืน



ตัวอย่างข้อสอบอัยการผู้ช่วย

นางสาวงามอายุ 17 ปี ทะเลาะกับบิดามารดา และออกจากบ้านไปอยู่กับ

เพื่อนที่หอพัก บิดามารดาออกติดตามให้กลับบ้านแต่ไม่พบตัว นายเก่งขับ

รถยนต์มารับนางสาวงามจากหอพักไปเที่ยวและนำไปที่ห้องพักของเพื่อนตน

นายเก่งกับนางสาวงามได้ใช้ห้องพักดังกล่าวในการร่วมประเวณีกัน ต่อมา

นายเก่งได้ชวนนางสาวงามไปร่วมประเวณีอีก นางสาวงามเพียงผู้เดียว

รู้ว่าตนตั้งครรภ์ได้หนึ่งเดือนจึงปฏิเสธนายเก่ง ทำให้นายเก่งโกรธจึงทำร้าย

ร่างกายนางสาวงามทำให้นางสาวงามแท้งลูกได้รับบาดเจ็บ ใช้เวลารักษา

ตัว 15 วัน ให้วินิจฉัยว่านายเก่งต้องรับผิดฐานใดหรือไม่

- จากคำถาม ประเด็นแรก

นายเก่งมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปีแต่ไม่เกิน 18 ปี

ไปเสียจากบิดามารดาไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยตาม

มาตรา 319 วรรคแรก เพราะการพรากเป็นการรบกวนอำนาจการปกครอง

ของบิดามารดา แม้นางสาวงามจะหนีออกจากบ้านไปอยู่กับเพื่อนที่หอพัก

แต่การปกครองนางสาวงามยังอยู่กับบิดามารดา การที่นายเก่งนำนางสาวงาม

ไปเที่ยวและร่วมประเวณีโดยบิดามารดาไม่อนุญาตและยินยอม ถือได้ว่า

เป็นการล่วงอำนาจการปกครองและการร่วมประเวณีเป็นมูลเหตุจูงใจถือว่า

เป็นการพรากไปเพื่ออนาจาร

- ประเด็นที่สอง นายเก่งมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตราย

แก่กายตาม ปอ. 295 เพราะนางสาวงามได้รับบาดเจ็บใช้เวลารักษา 15

วัน และฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามม.297(5)

โดยทำให้นางสาวงามแท้งลูก เพราะการแท้งลูกเป็นผลโดยตรงที่นายเก่งได้

ทำร้ายนางสาวงาม คือถ้าไม่มีการทำร้ายก็ไม่มีการแท้งลูก และการแท้งลูก

เป็นผลธรรมดาที่เกิดจากการทำร้ายของนายเก่งตาม ปอ.มาตรา 63



ข้อสอบอัยการผู้ช่วย

คำถาม นางกิ่งคลอดเด็กชายกบบุตรอันเกิดกับนายก้านที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง

ขณะนางกิ่งจะออกจากรพ.นางใหญ่ซึ่งเป็นพยาบาลต้องการจะแกล้งนางกิ่ง

จึงนำเด็กชายจิ๋ว บุตรของผู้อื่นมอบให้นางกิ่งไป นางกิ่งคิดว่าเป็นบุตรของตน

จึงอุ้มกลับบ้าน เมื่อถึงบ้านพบนายก้านซึ่งกลับมาจากต่างจังหวัดพอดี

นายก้านเห็นใบหน้า และสีผิวเด็กชายจิ๋วไม่เหมือนตนจึงด่าว่านางกิ่งมีชู้

และเด็กชายจิ๋วเกิดกับชู้ไม่ใช่บุตรของตน และทำร้ายนางกิ่งจึงฟกช้ำ

ไปทั้งตัว นางกิ่งโกรธแค้นนายก้านมาก จึงจับเด็กชายจิ๋วซึ่งนอนอยู่ในเปล

และจับทุ่มลงอย่างแรงจนเด็กชายจิ๋วคอหักถึงแก่ความตาย เพื่อเป็นการ

ประชดนายก้าน นางกิ่งและนางใหญ่มีความผิดฐานใดหรือไม่

ธงคำตอบ การที่นางกิ่งทุ่มเด็กชายจิ๊วลงกับพื้นคอหักถึงแก่ความตาย เป็นการ

กระทำโดยรู้สำนึกและประสงค์ต่อผล จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตาม

มาตรา 59 แม้การที่นายก้านด่าว่าและทำร้ายร่างกายนางกิ่ง จะเป็นการ

ข่มเหงนางกิ่งอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม แต่นางกิ่งมิได้กระทำความผิด

ต่อนายก้านผู้ข่มเหง กลับไปกระทำความผิดต่อเด็กชายจิ๋ว การกระทำของ

นางกิ่งจึงมิใช่กระทำโดยบันดาลโทสะ ตามมาตรา 72 เพราะจะอ้างบันดาล

โทสะจะต้องกระทำต่อผู้ก่อภัย



ข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา ( สนามเล็ก)

นายแก้ว นายแหวน นายเงิน ตระเวนลักเงินตามตู้โทรศัพท์สาธารณะทราบว่าตู้

โทรศัพท์หน้าหมู่บ้าน เครื่องเสีย ใช้การไม่ได้ จึงนำก้อนกระดาษไปอุดตรงช่อง

หยอดเหรียญเพื่อไม่ให้เหรียญกษาปณ์ตกลงในช่องคืนเหรียญ แล้วแกล้งทำที

ยืนคุยกันอยู่ข้างตู้โทรศัพท์เพื่อสังเกตการณ์ มีผู้มาใช้เครื่องโทรศัพท์หลายราย

แต่ใช้การไม่ได้ทุกคนต่างโมโหและเดินออกจากตู้โทรศัพท์ไป ต่อมานายทอง

เข้ามาหยอดเหรียญกษาปณ์และใช้โทรศัพท์และเห็นเครื่องโทรศัพท์ไม่ทำงาน

และเห็นเหรียญกษาปณ์ไม่ตกลงไปในช่องคืนเหรียญ นายทองมีประสบการณ์

ทราบดีว่าคงมีคนเอากระดาษไปอุดไว้ที่ช่องคืนเหรียญ จึงใช้มือล้วงเข้าไป

ในช่องคืนเหรียญ เอากระดาษที่อุดไว้ออกมา ปรากฏว่ามีเหรียญของคนใช้

โทรศัพท์ก่อนนายทองรวมทั้งของนายทอง ร่วงลงมาเป็นเงินทั้งหมด 98 บาท

นายทองเอาเหรียญกษาปณ์ทั้งหมดใส่กระเป๋าแล้วเดินออกไป นายแก้ว

นายแหวน และนายเงิน จึงเดินเข้าไปหานายทองและอ้างว่าเป็นจพง.ตำรวจ

เห็นเหตุการณ์ที่นายทองล้วงเอาเหรียญกษาปณ์ไปพร้อมกับควบคุมตัว

หากไม่มอบเหรียญกษาปณ์ให้จะดำเนินคดี แต่นายทองรู้ว่าทั้งสามคนไม่ใช่

จพง.ตำรวจ จึงไม่ใส่ใจกับคำพูดและขึ้นรถยนต์โดยสารกลับบ้าน ให้วินิจฉัย

ว่านายแก้ว นายแหวน นายเงิน และนายทองมีความผิดตามประมวลกฎหมาย

อาญาฐานใดบ้าง

ธงคำตอบ เหรียญกษาปณ์ที่ตกลงไปในช่องคืนเหรียญเนื่องจากไม่สามารถ

ใช้โทรศัพท์ติดต่อไปยังสายปลายทางได้ยังเป็นของผู้ใช้โทรศัพท์อยู่

และอยู่ในความครอบครองของเจ้าของเหรียญกษาปณ์ที่รอรับเหรียญกษาปณ์

นั้น การที่เจ้าของเหรียญกษาปณ์ออกจากตู้โทรศัพท์ไปแล้วก็ไม่ได้

หมายความว่ามีเจตนาสละกรรมสิทธิ์ในเหรียญกษาปณ์ที่ติดค้างอยู่นั้น

การที่นายแก้ว นายแหวน และนายเงิน ร่วมกันเอากระดาษไปอุดไว้ในช่อง

คืนเหรียญเพื่อไม่ให้ตกลงไปถึงมือผู้ใช้โทรศัพท์ที่รออยู่โดยติดค้างอยู่ใน

กระดาษที่อุดอยู่ตรงช่องคืนเหรียญ เป็นการลงมือกระทำความผิดฐาน

ลักทรัพย์แล้วแต่เป็นการพยายามโดยการกระทำไปไม่ตลอด เพราะยัง

ไม่ได้เอาเหรียญกษาปณ์ไป นายแก้ว นายแหวน และนายเงิน จึงมีความผิด

ฐานพยายามลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปตามมาตรา

335(7)ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 83 (ฎีกา 4208/2543)

ประเด็นต่อไป การที่นายแก้ว นายแหวน และนายเงิน ซึ่งเห็นการกระทำของ

นายทองและเข้าไปอ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจกับขู่ว่าหากไม่ส่งมอบ

เหรียญให้ทั้งหมดจะจับกุมตัวไปดำเนินคดีนั้นไม่ใช่เป็นการกระทำชิงทรัพย์

เพราะการชิงทรัพย์จะต้องขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย

กรณีไม่ใช่ชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 แต่เป็นการกรรโชกทรัพย์ตาม

มาตรา 337 วรรคหนึ่ง (ฎีกาที่ 2912/2550)

เนื่องจากนายทองผู้ถูกข่มขู่ไม่ยอมมอบเหรียญให้บุคคลทั้งสาม การกระทำ

ของบุคคลทั้งสามจึงเป็นการร่วมกันพยายามกรรโชก ตามมาตรา 337

วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 83

กรณีนายทอง เมื่อเอากระดาษที่ช่องคืนเหรียญออกและเอาเหรียญกษาปณ์

ทั้งหมดไป จึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334

ประเด็น นายทองเป็นตัวการในการร่วมกระทำ

ความผิดกับบุคคลทั้งสามหรือไม่ นายทองไม่มีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับ

นายแหวน นายแก้ว นายเงินจึงไม่มีความผิดตามมาตรา 335 (7)

เมื่อพิจารณาว่านายทองไม่เป็นตัวการ ยังต้องวินิจฉัยต่อว่าแล้วเป็นการ

ช่วยเหลือหรือสนับสนุนหรือไม่ แม้การที่นายแหวน นายแก้ว และนายเงิน

ร่วมกันเอากระดาษไปอุดตรงช่องคืนเหรียญทำให้นายทองเอาเหรียญไป

สะดวกขึ้นเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกก่อนที่นายทองจะกระทำ

ความผิด นายแก้ว นายแหวน นายเงิน ก็ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน

การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ของนายทอง เพราะนายแก้ว นายแหวน

และนายเงิน มิได้มีเจตนาช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกของนายทองในการ

กระทำความผิดฐานลักทรัพย์



คำถาม นายแดงขู่ให้นายดำส่งทรัพย์ชิ้นหนึ่งให้ โดยขู่ว่าถ้าไม่ส่งให้จะ

ทำร้ายร่างกายทรัพย์ที่ส่งให้นายดำคือเครื่องจักร ที่ผู้เสียหายเป็นผู้มีอาชีพ

กสิกรมีไว้ประกอบอาชีพ


คำตอบ

แม้ความจริงสิ่งที่ผู้เสียหายส่งให้เป็นเครื่องจักร ผู้เสียหายซึ่งเป็นผุ้มีอาชีพ

กสิกรรม แต่ผู้กระทำความผิดจะผิดตามมาตรา 339 วรรค 2 ก็ต่อเมื่อรู้ว่า

สิ่งนั้นเป็นเครื่องจักรและเป็นเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้ประกอบอาชีพ

กสิกรรมตามมาตรา 62 วรรคท้ายกำหนดไว้



ส่งท้ายกับคำพิพากษาวันนี้นะคะ

คำพิพากษาฎีกาที่ 5264//2548 แม้ในทาง

พิจารณาจะได้ความว่า การกระทำความผิดฐานรับของโจรของจำเลยได้

กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการปล้นทรัพย์ ซึ่งต้องด้วยลักษณะฉกรรจ์

ในความผิดฐานรับของโจรตามมาตรา 357 วรรคสอง ก็ตาม แต่จะ

ลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นตามลักษณะฉกรรจ์ดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อได้

ความว่า ในขณะกระทำความผิดจำเลย ได้รู้อยู่แล้วว่าทรัพย์ดังกล่าว

เป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ทั้งนี้

ตามมาตรา 62 วรรคท้าย เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า ขณะกระทำความผิด

จำเลยได้รู้อยู่แล้วว่าทรัพย์ของกลางเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำ

ความผิดฐานปล้นทรัพย์ คดีจึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจร

อันต้องด้วยลักษณะฉกรรจ์ตามมาตรา 357 วรรคสอง ไม่ได้ การกระทำ

ของจำเลยคงเป็นความผิดฐานรับของโจรตาม มาตรา 357

วรรคแรก เท่านั้น







"เพราะแสวงหา มิใช่เพราะรอคอย เพราะเชี่ยวชาญ มิใช่เพราะโอกาส

เพราะสามารถ มิใช่เพราะโชคช่วย ดังนี้แล้ว "ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน"




















สิงหาคม 01, 2553

รอการลงโทษ กับ รอการกำหนดโทษ






ปัญหานักโทษที่เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นปัญหาหนึ่งของ

กรมราชทัณฑ์ เมื่อใดก็ตามมีนักโทษมากเกินไปย่อมเกิดความแออัด

และทุกครั้งที่มีการปล่อยนักโทษพ้นคุกออกมา สังคมก็ผวาไปเหมือนกัน

ประเทศไทยจึงประสบปัญหากับนักโทษล้นคุก ทำให้การดูแล และปฏิบัติ

ต่อนักโทษไม่เป็นไปตามมาตรฐานองค์การสหประชาชาติว่าด้วย

กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในเรื่องกฎมาตรฐานขั้นต่ำของการปฏิบัติ

ต่อนักโทษ


การลงโทษปัจจุบันแม้จะมีการฟื้นฟูนักโทษไปด้วยในระหว่างจำคุก

แต่มีข้อเสียตรงที่ผู้ถูกจำคุกอาจได้รับการเรียนรู้วิธีการกระทำผิดมากขึ้นจาก

นักโทษอื่น และเมื่อพ้นโทษไปแล้วมักไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม

เกิดตราบาปแก่คนนั้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ซึ่งพ้นโทษ

และมาใช้ชีวิตในสังคมอย่างมาก


ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ได้กำหนดเงื่อนไขในการที่ศาลใช้

ดุลพินิจในการใช้มาตรการรอการลงโทษแก่ผู้กระทำผิด ดังนี้


"มาตรา 56 ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุกและในคดีนั้น ศาลจะ

ลงโทษจำคุกไม่เกินสองปี ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน

หรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อนแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำ

โดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ เมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ

ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิตนิสัยอาชีพ

และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้นหรือสภาพความผิดหรือเหตุอันควรปรานีแล้ว

เห็นเป็นการสมควรศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนด

โทษไว้ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้แล้วปล่อยตัวไปเพื่อให้โอกาส

ผู้นั้นกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลได้กำหนดแต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่

วันที่ศาลพิพากษาโดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้น

ด้วยหรือไม่ก็ได้

เงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิดนั้น ศาลอาจกำหนด

ข้อเดียวหรือหลายข้อ ดังต่อไปนี้

(1) ให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานที่ศาลระบุไว้เป็นครั้งคราวเพื่อ

เจ้าพนักงานจะได้สอบถามแนะนำ ช่วยเหลือหรือตักเตือนตามที่เห็นสมควร

ในเรื่องความประพฤติและการประกอบอาชีพ หรือจัดให้กระทำกิจกรรมบริการ

สังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานและผู้กระทำความผิดเห็นสมควร

(2) ให้ฝึกหัดหรือทำงานอาชีพอันเป็นกิจจะลักษณะ

(3) ให้ละเว้นการคบหาสมาคมหรือการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำ

ความผิดใน ทำนองเดียวกันอีก

(4) ให้ไปรับการบำบัดรักษาการติดยาเสพติดให้โทษความบกพร่อง

ทางร่างกายหรือจิตใจหรือความเจ็บป่วยอย่างอื่น ณ สถานที่และตาม

ระยะเวลาที่ศาลกำหนด

(5) เงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดเพื่อแก้ไขฟื้นฟู

หรือป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดมีโอกาสกระทำความผิดขึ้นอีก



ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการรอการลงโทษ ได้แก่ กรณีที่ศาลพิพากษาว่าผู้นั้น

มีความผิดและกำหนดจำคุกมีเวลาแน่นอนแล้ว แต่ผู้นั้นยังไม่ต้องถูกจำคุก

เช่น ศาลสั่งจำคุก 2 ปี หากภายใน 2 ปี ไม่กระทำความผิดอีก ถือว่า

ไม่ต้องโทษ การรอกำหนดโทษ ได้แก่ กรณีที่ศาลพิพากษาว่าผู้นั้น

มีความผิด แต่ยังไม่กำหนดโทษจำคุกว่า จะต้องถูกจำคุกเท่าใด เช่น

ศาลพิพากษาว่าให้จำคุก แต่รอกำหนดโทษไว้ 2 ปี (ยังไม่ทราบว่า

จำคุกเท่าใด) หากภายใน 2 ปี กระทำความผิด จึงจะถูกกำหนดโทษ

ถ้าภายใน 2 ปีไม่กระทำผิด ถือว่าไม่ต้องโทษ

การรอการลงอาญาดังกล่าว นับเป็นวิธีการแก้ไขความประพฤติของ

ผู้ได้กระทำความผิดอาญา เปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดได้กลับตนเป็นคนดี

ไม่ต้องถูกจำคุก และช่วยลดจำนวนนักโทษในเรือนจำโดยเฉพาะอย่างยิ่ง

การจำคุกระยะสั้น ๆ เช่น 15 วัน หรือ 3 เดือน 6 เดือน ไม่ได้ประโยชน์

ในการแก้ไขจิตใจให้ดีขึ้นแต่อย่างใด กลับทำให้เกิดผลเสียต่อผู้นั้น ผลเสีย

ต่อเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องใช้จ่ายเงินในการควบคุมดูแล ผลเสียต่อ

ภาวะจิตใจของครอบครัว เศรษฐกิจของครอบครัว ปัญหาต่าง ๆ ของครอบครัว

ซึ่งกลับเป็นผลเสียของสังคม ดังนั้น วิธีการรอการลงโทษและรอการ

กำหนดโทษ เป็นวิธีการที่นิยมกันในนานาประเทศ

ผู้ที่กระทำผิด และคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ถ้าผู้นั้นไม่เคย

ต้องโทษจำคุกมาก่อน หรือเคยถูกจำคุกแต่เป็นโทษสำหรับความผิดโดย

ประมาทหรือลหุโทษ ศาลจะได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา

การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะจิตใจ นิสัย อาชีพและสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น

หรือสภาพความผิดหรือเหตุอื่น ๆ อันควรปรานี ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นผิด

แต่รอการกำหนดโทษไว้ หรือรอการลงอาญา ปล่อยตัวผู้นั้นเพื่อให้โอกาส

กลับตัวภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี บางรายอาจจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อ

ควบคุมความประพฤติด้วยหรือไม่ก็ได้ เช่น ให้ไปรายงานตัวต่อศาลหรือ

เจ้าพนักงานเป็นครั้งคราว ให้ฝึกหัดหรือทำงานอาชีพ ให้ละเว้น

การคบหาสมาคม หรือการประพฤติอันอาจนำไปสู่การกระทำผิดอีก"





การใช้ดุลพินิจของศาลในการรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษจึงมี

ความสำคัญมากในกระบวนการพิจารณาพิพากษาของศาล และเมื่อพิจารณา

ถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงในการรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษ คือ

การหลีกเลี่ยงการลงโทษจำคุกระยะสั้น และเป็นการให้โอกาสแก่ผู้กระทำ

ความผิดได้กลับตนเป็นคนดีของสังคมภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร

โดยจะมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขก็ตามเพื่อแก้ไขผู้กระทำความผิด

ซึ่งกลับตนเป็นคนดีแล้วคืนสู่สังคม ซึ่งถือว่าเป็นเจตนารมณ์ที่ดีของกฎหมาย





"การใช้กฎหมายมีความสำคัญกว่าการสร้างกฎหมาย"






อ้างอิง


นันทิพัฒน์ บุญทวี. "ปัญหาการรอการลงโทษตามประมวลกฎหมาย

อาญา". วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

(กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2550).

ปรีชา ขำเพชร. "ดุลพินิจของศาลในการรอการลงโทษหรือรอการ

กำหนดโทษ : ศึกษาแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา", วิทยานิพนธ์

นิติศาสตรมหาบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.(กรุงเทพมหานคร :

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2546).




เวปไซด์


www.staff.p1.police.go.th/ver2/images/

stories/ms.../106.doc


e-learning.mfu.ac.th/mflu/1601101/chapter0804.html