กันยายน 14, 2553

"วิเคราะห์ลักษณะอุปนิสัยของข้าราชการไทย ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศและการปฏิรูประบบราชการ"



วันนี้ขออนุญาตนำบทความของคุณวิรัช วิรัชนิภาวรรณ  มาแบ่งปันท่านผู้อื่น

และน่าจะทำให้เพื่อนข้าราชการทั้งหลาย ได้ลองมาคิดและพิจารณาว่า

ณ ปัจจุบัน  พวกเราทำงานอย่างเต็มความสามารถและสร้างประโยชน์ให้กับ

แผ่นดินตามศักยภาพที่แท้จริงของเราหรือยัง 



เมื่อพิจารณาศึกษาหรือวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคใด ๆ ก็ตาม มีหลักที่ควร

คำนึงอยู่เสมอคือ "ไม่มีปัญหาอุปสรรคใดเกิดจากสาเหตุเดียว"

ทำนองเดียวกัน ปัญหาอุปสรรคของการพัฒนาประเทศหรือการปฏิรูประบบ

ราชการจึงมิได้เกิดขึ้นได้จากสาเหตุเดียว แต่เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น

เกิดจากประชาชนและจากข้าราชการ แต่ในแง่ของการบริหารและการจัดการ

ภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันรวมเรียกว่า "การบริหารจัดการ" จะมุ่งไปที่ปัญหาอุปสรรค

ที่เกิดจากข้าราชการโดยละเว้นไม่กล่าวถึงปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากประชาชน

ทั้งนี้เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กำหนดให้

อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยหรือเป็นของประชาชน ทำให้

ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและมอบอำนาจดังกล่าวให้ฝ่ายต่าง ๆ

เช่น ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ นำไปปฏิบัติ โดยมีข้าราชการ

เป็นกลไกหรือแขนขาของแต่ละฝ่าย ข้าราชการทั้งหลายจึงมีฐานะเป็นผู้รับใช้

ประชาชนพร้อมกับมีหน้าที่พัฒนาประเทศและปฏิรูประบบราชการตาม

นโยบายของรัฐบาล

บทความนี้มุ่งวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากข้าราชการโดยเน้นที่

อุปนิสัยของข้าราชการไทย เพราะอุปนิสัยของข้าราชการเป็นสภาวะทาง

จิตใจที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมของข้าราชการ ในอดีตกลุ่ม

อิทธิพลที่มีอำนาจควบคุมและกำหนดนโยบายการปกครองประเทศไทย คือ

กลุ่มผู้นำทหารระดับบิ๊ก กลุ่มนักธุรกิจชั้นนำ และกลุ่มข้าราชการประจำ

ระดับสูง กลุ่มหลังสุดนี้เชื่อกันว่าเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งที่สุดที่กระตุ้นทำให้

ประเทศไทยทันสมัยขึ้น อีกทั้งนโยบายต่าง ๆ ของประเทศ ก็มิได้เกิดขึ้น

จากรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง หรือจากรัฐสภา แต่เกิดจากอำนาจของระบบ

ราชการสมัยใหม่ ซึ่งแสดงออกผ่านข้าราชการประจำระดับสูงทั้งสิ้น ถึงกับ

มีคำกล่าวว่า ในอดีต ประเทศไทยปกครองโดยระบอบ "อำมาตยาธิปไตย"

โดยทั่วไป ข้าราชการแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำ

 แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงฝ่ายหลังซึ่งเป็นข้าราชการประจำที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ใน

กระทรวงต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หรือท้องที่ใดของประเทศไทย

ข้าราชการในอดีตและปัจจุบันเป็นกลไกสำคัญที่นำนโยบายของรัฐบาลไป

ปฏิบัติและมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการพัฒนา

ประเทศและการปฏิรูประบบราชการ

ในส่วนของการปฏิรูประบบราชการนั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อใดไม่อาจกำหนดได้

อย่างชัดเจน ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน อาจนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลง

การปกครองแผ่นดินในปี พ.ศ. 2475 หรือนับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่มี

บทบัญญัติสนับสนุนการปฏิรูปการเมืองการปกครองและการบริหารประเทศ

อย่างชัดเจน หรือล่าสุดอาจนับตั้งแต่การปฏิรูประบบราชการในปี พ.ศ. 2545

 ในสมัยรัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร โดยเฉพาะเมื่อได้

ลดจำนวนกระทรวงเหลือ 20 กระทรวง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 เป็นต้นมา

ก็ได้ ในที่นี้นับตั้งแต่ปีที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 เป็นต้นมา

ข้อมูลในบทความนี้ส่วนใหญ่รวบรวมจากเอกสารในอดีตแล้วนำมาปรับใช้ใน

สภาพปัจจุบันซึ่งข้อมูลอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ก็ยังคงมีน้ำหนักมาก

เพียงพอที่จะนำเสนอไว้ในที่นี้ได้ สำหรับอุปนิสัยของข้าราชการที่จะนำเสนอ

ต่อไปนี้ เป็นอุปนิสัยของข้าราชการในภาพรวมและเฉพาะด้านลบเท่านั้น

และมิใช่เป็นอุปนิสัยของข้าราชการทุกคนในทุกกระทรวง อุปนิสัยของ

ข้าราชการแต่ละประการอาจแสดงออกมาพร้อมหรือไม่พร้อมกันก็ได้ อีกทั้ง

ระดับความรุนแรงของอุปนิสัยอาจมีมากหรือน้อยแตกต่างกันได้ ทั้งนี้

เป็นสิทธิและเป็นวิจารณญาณของผู้อ่านที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย

จากหลักการและเหตุผล ความสำคัญ ความหมาย การรวบรวมข้อมูล ขอบเขต

 และข้อจำกัดของการนำเสนอดังกล่าวข้างต้น จึงนำมาสู่การวิเคราะห์ลักษณะ

อุปนิสัยของข้าราชการไทยที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศและการ

ปฏิรูประบบราชการ ซึ่งมีอย่างน้อย 20 ประการ ดังต่อไปนี้

1. การยึดถือระบบอุปถัมภ์ เป็นอุปนิสัยของข้าราชการที่นิยมชมชอบและนำ

ระบบอุปถัมภ์มาใช้ ระบบนี้มีส่วนทำให้ข้าราชการมีพฤติกรรมไปในแนวทาง

ที่มีข้ากับเจ้า บ่าวกับนาย ผู้ใหญ่กับผู้น้อย ผู้นำกับผู้ตาม หรือผู้อุปถัมภ์กับ

ผู้ถูกอุปถัมภ์ ชีวิตของข้าราชการชั้นผู้น้อยจะได้ดิบได้ดีหรือตกอับขึ้นอยู่กับ

ผู้ใหญ่หรือผู้บังคับบัญชาที่คอยปกปักรักษาคุ้มครองภัยต่าง ๆ ให้ ส่วนผู้ใหญ่

จะได้แรงงานและการปรนนิบัติรับใช้จากผู้น้อยเป็นการตอบแทน เข้าทำนอง

“ข้าพึ่งเจ้า บ่าวพึ่งนาย” ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อยดังกล่าวเป็น

ความสัมพันธ์ในแนวดิ่งบนลงล่าง อันเป็นการสั่งการบังคับกันตามลำดับขั้น

โดยยึดถือพวกพ้องเป็นหลัก

อุปนิสัยของข้าราชการที่ยึดถือระบบอุปถัมภ์นี้มีส่วนทำให้เกิดระบบเส้นสาย

ขึ้นในวงราชการไทย เช่น การรับสมัครข้าราชการหรือการปฏิบัติราชการของ

ข้าราชการมิได้ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน แต่อยู่ที่ว่า

ข้าราชการผู้นั้นใกล้ชิดและซื่อสัตย์ต่อผู้ใหญ่หรือผู้ใต้บังคับบัญชามากน้อย

เพียงใด เข้าทำนอง “ค่าของคนมิได้อยู่ที่ผลของงาน” แต่ “ค่าของคนอยู่ที่

คนของใคร” อุปนิสัยประการนี้ยังมีส่วนทำให้ข้าราชการขาดความรับผิดชอบ

 ขาดการเอาใจใส่ในการปฏิบัติงาน ข้าราชการจะปฏิบัติงานให้ผ่านไปวัน ๆ

 ตามความพอใจของตน โครงการต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายจะสำเร็จหรือ

ล้มเหลว ไม่มีผลต่อหน้าที่มาก เพราะระบบการลงโทษและการให้คุณของ

ทางราชการไม่จริงจัง มูลเหตุจูงใจข้าราชการไม่ได้อยู่ที่การทำงานให้สำเร็จ

 แต่กลับเป็นเรื่องของพวกพ้องและการวิ่งเต้น อุปนิสัยนี้ยังเป็นอุปสรรคต่อ

การประสานงานและการปฏิบัติงานร่วมกันเป็นทีมอีกด้วย

2.การปกป้องผู้ใต้บังคับบัญชาในทางที่ผิดการปกป้องผู้ใต้บังคับ

บัญชาในทางที่ถูกที่ควรและสุจริตนั้นเป็นสิ่งดี เพราะการแสดงถึงการรักและ

ไม่ทอดทิ้งผู้ใต้บังคับบัญชามีส่วนทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีขวัญกำลังใจ

และผู้บังคับบัญชาได้รับการเคารพยกย่องมากขึ้น แต่การปกป้องผู้ใต้

บังคับบัญชาในทางที่ผิดเป็นผลเสียมากกว่าผลดี โดยเฉพาะเป็นการ

ช่วยเหลือคนผิดและในบางกรณีเป็นการกระทำผิดกฎหมาย

อุปนิสัยของข้าราชการที่ปกป้องผู้ใต้บังคับบัญชาในทางที่ผิดนี้ ส่วนหนึ่ง

ได้รับอิทธิพลมาจากระบบอุปถัมภ์ โดยเฉพาะเมื่อข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มี

อุปนิสัยที่ชอบแสดงความยิ่งใหญ่ วางก้าม วางตัวเป็นผู้มีอำนาจมีอิทธิพล

 ส่วนหนึ่งแสดงออกโดยสนับสนุนปกปักรักษาคุ้มครองข้าราชการชั้นผู้น้อย

 ส่วนข้าราชการชั้นผู้น้อยก็มีหน้าที่ติดสอยห้อยตาม คอยปรนนิบัติรับใช้

 เอาอกเอาใจข้าราชการชั้นผู้ใหญ่นั้น ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่ข้าราชการชั้น

ผู้น้อยกระทำความผิด จึงเป็นหน้าที่ของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่จะปกป้องให้

เช่น ถ้าถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดคดีอาญาและคดีแพ่ง ก็ช่วยเหลือ

ให้ผิดเฉพาะคดีแพ่ง หรือถ้ากระทำความผิดถึงขนาดต้องถูกไล่ออก ก็ช่วย

ให้ผิดแค่โอนย้ายไปอยู่หน่วยราชการอื่น เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะให้การปกป้องช่วยเหลือข้าราชการ

ชั้นผู้น้อยที่เป็นพวกเดียวกันและจงรักภักดีต่อข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น

 โดยไม่สนใจกฎเกณฑ์ ส่วนข้าราชการอื่นที่ไม่ใช่พวกเดียวกัน ไม่จงรักภักดี

 หรือผิดใจกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ถ้ากระทำความผิดเมื่อใดจะถูกดำเนินการ

ตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด หรือแม้ไม่ได้กระทำผิดอย่างชัดเจน ข้าราชการ

ชั้นผู้ใหญ่ก็อาจกลั่นแกล้งโดยพยายามค้นหากฎระเบียบมาใช้ลงโทษอย่าง

เข้มงวด เข้าทำนอง "ผิดกฎผิดระเบียบไม่เป็นไร แต่ถ้าผิดใจเปิดกฎ"

การปกป้องผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำความผิดนั้น แม้มองได้ว่าเป็นการ

สร้างความดีให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำความผิด แต่ก็ได้สร้างความ

เลวร้ายให้กับประเทศชาติอย่างมหาศาล การปกป้องมีหลายรูปแบบและ

เกิดขึ้นในหลายหน่วยงาน ดังเช่น ข้าราชการที่ปฏิบัติงานเป็นเกษตรอำเภอ

หรือนายอำเภอ เมื่อกระทำการทุจริตหรือใช้อำนาจหน้าที่ในการแสวงหา

ผลประโยชน์ใส่ตัว จนเกิดการร้องเรียนสอบสวนขึ้นมา ข้าราชการระดับ

สูงกว่าก็จะหาทางช่วยเหลือ โดยในขั้นแรกจะทำขึงขังเอาจริงเอาจังพร้อมกับ

ประกาศว่าไม่เป็นมวยล้ม เพราะขณะนั้นมีคนสนใจจับตามองกันมาก

หลังจากนั้นพอเรื่องซาลง ก็จะให้ความช่วยเหลือ นับตั้งแต่การประวิงเวลา

การสอบสวน ไม่ให้หลักฐานหรือให้ไม่ครบ แนะนำช่องทางหลบหลีก หรือทำ

หลักฐานให้อ่อนลง รวมตลอดทั้งการช่วยวิ่งเต้นล้มคดี หรือถ้าเป็นไปได้

ก็จะพยายามทำให้พ้นมลทินคือไม่ผิด แต่ถ้าเป็นไปได้ลำบากก็จะพยายาม

ทำให้ผิดน้อยที่สุด ผลก็คือเป็นเพียงการย้ายข้าราชการนั้นออกจากพื้นที่

ไปประกอบพฤติกรรมสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในอำเภออื่นต่อไป

 จนกว่าจะถูกจับได้ แล้วก็ย้ายต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะครบทุกจังหวัด หรือ

จนกว่าข้าราชการผู้นั้นปลดเกษียณ หรือตายก่อน เช่นนี้เข้าลักษณะที่เห็นกัน

ทั่วไปและเรียกว่า "มวยล้ม ต้มคนดู"

3. การทำตัวเป็นนายประชาชน หมายถึงการที่ข้าราชการมีอุปนิสัยที่เป็น

ผู้ออกคำสั่งหรือผู้ปกครองประชาชนและมีความคิดว่ารู้ดีกว่าประชาชน คือรู้ดี

กว่าประชาชนมีความต้องการอะไรและเป็นผู้จัดหาให้ รวมทั้งชี้แนะให้

ประชาชนปฏิบัติตามความต้องการของตนหรือของรัฐบาลเป็นหลักมากกว่า

ปฏิบัติงานความต้องการของประชาชนเป็นหลัก ตัวอย่างการทำตัวเป็นนาย

ประชาชนของข้าราชการ เช่น การที่ข้าราชการเข้าไปพัฒนาหมู่บ้านแห่งหนึ่ง

ในภาคอีสาน หลังจากสร้างถาวรวัตถุ เช่น ถนน สะพาน เสร็จแล้ว ก็จะมอบ

สิ่งนั้นให้แก่ประชาชน อันทำให้ประชาชนไม่มีความรู้สึกว่าได้ผูกพันกับงาน

พัฒนานั้น ผลที่ตามมาก็คือ ประชาชนไม่สนใจที่จะดูแลบำรุงรักษาถาวรวัตถุ

ที่ได้รับมอบมานั้น เพราะไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการอย่างแท้จริง

ในบางกรณี การปฏิบัติตัวของข้าราชการบางคนมิได้มีจิตสำนึกว่ามีหน้าที่รับใช้

ประชาชน ไม่เห็นว่าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ แต่กลับคิดว่าการที่

ประชาชนมาติดต่อขอความช่วยเหลือเป็นการมารบกวน ดังนั้น การมาขอรับ

บริการจากหน่วยราชการจึงกลายเป็นการมาอ้อนวอน ขอร้อง และต้องมารับ

คำสั่งคำบงการของข้าราชการ ในบางครั้งถึงกับกล่าวกันว่า เมื่อประชาชนไป

ติดต่อราชการเหมือนกับการไปขอส่วนบุญจากทางราชการ

การที่ข้าราชการมีลักษณะอุปนิสัยที่ทำตัวเป็นนายประชาชน เป็นผลเสียต่อ

การพัฒนาประเทศอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะการพัฒนาประเทศเป็นงานที่ต้องอาศัย

การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหลัก โดยข้าราชการเป็นผู้เข้าไปสนับสนุน

ชี้แนะ ให้คำแนะนำตามความจำเป็นหรือในทางวิชาการเท่านั้น แต่เมื่อ

ข้าราชการบางหน่วยงานเข้าไปทำตัวเป็นนายประชาชน ไปทำสิ่งต่าง ๆ ให้

ไปบงการออกคำสั่ง จึงเป็นการผิดหลักการพัฒนาโดยสิ้นเชิง ผลก็คือ

ประชาชนจะไม่ให้ความร่วมมือ หรือจะให้ก็เฉพาะในช่วงแรกหรือเมื่อได้รับ

ผลประโยชน์ตอบแทนเท่านั้น เช่น ได้รับเบี้ยประชุม กินอาหารฟรี หรือรับ

แจกของ ซึ่งเป็นการดึงดูดหรือล่อใจให้ประชาชนมาร่วมประชุมและทนฟัง

คำสั่งที่ข้าราชการเตรียมมาแล้วจากอำเภอและจังหวัด แล้วนำมาถ่ายทอด

แกมบังคับแก่ประชาชนโดยเรียกการกระทำดังกล่าวว่าการมีส่วนร่วม

ของประชาชน

4. การมีลักษณะตัวใครตัวมัน เป็นลักษณะอุปนิสัยของข้าราชการที่

เรียกว่า"ปัจเจกชนนิยม" คือ ไม่สนใจที่จะให้ความร่วมมือในการพัฒนา

ประเทศหรือปฏิรูประบบราชการพร้อมกับหน่วยงานอื่น ๆ ไม่ชอบประสานงาน

ไม่นิยมการรวมกลุ่มเพื่อร่วมกันปฏิบัติงาน หากไม่มีผลประโยชน์ตอบแทน

ชอบชิงดีชิงเด่นกันและเอาตัวรอด ใครหรือหน่วยงานใดดีกว่าเด่นกว่าจะ

อิจฉาริษยาและหาทางทำลายหรือสกัดกั้น รวมไปถึงการไม่ชอบประสานงาน

ลักษณะอุปนิสัยประการนี้ สืบเนื่องมาจากการที่ประเทศไทยหรือสังคมไทย

มีโครงสร้างทางสังคมที่หละหลวม หรือโครงสร้างหลวม ๆ หรืออาจเรียกว่า

โครงสร้างตามสบาย สืบต่อกันมาช้านาน

ผลกระทบในแง่ลบของอุปนิสัยประการนี้คือ การพัฒนาประเทศรวมทั้งการ

ปฏิรูประบบราชการจะเป็นไปคนละทิศคนละทาง ความสามัคคีระหว่าง

ข้าราชการหรือระหว่างหน่วยราชการเกิดขึ้นได้อยาก แทนที่ “สามัคคีคือพลัง”

กลับกลายเป็น “สามัคคีคือพัง” ขณะเดียวกัน การที่ข้าราชการมีความเป็น

ตัวของตัวเองสูง ยิ่งส่งผลให้ข้าราชการรวมตัวกันไม่ติด หรือรวม “กลุ่ม” แล้ว

ต้อง “กลุ้ม” ทุกครั้งไป สัมพันธภาพระหว่างข้าราชการจะไม่ตายตัวพร้อม

ที่จะเข้าเป็นสมัครพรรคพวกและเลิกราได้ตลอดเวลา อาจกล่าวได้ว่า

สัมพันธภาพจะแปรไปตามผลประโยชน์ หรือ "ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร

มีแต่ผลประโยชน์เท่านั้นที่ถาวรมั่นคง" ดังนั้น จึงเป็นผลร้ายต่อการพัฒนา

ประเทศซึ่งเน้นความสำคัญของการรวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่นและต่อเนื่อง

เพื่อปฏิบัติร่วมกัน

อุปนิสัยของข้าราชการประการนี้ครอบคลุมถึงการไม่ชอบประสานงานด้วย

การประสานงานของข้าราชการ หมายถึงการร่วมมือกันปฏิบัติงานกับหน่วย

ราชการด้วยกันเองและกับหน่วยงานของภาคเอกชน สาเหตุของการไม่

ประสานงานของข้าราชการ ส่วนหนึ่งมาจากค่านิยม ทัศนคติ หรืออุปนิสัยของ

ข้าราชการที่มุ่งแสวงหาประโยชน์ให้ตนเองมากกว่าคิดถึงผลประโยชน์ของ

ประชาชน

มีตัวอย่างอุปนิสัยของข้าราชการที่เข้าลักษณะตัวใครตัวมันและไม่ชอบ

ประสานงาน ดังนี้ ในโครงการชลประทานแห่งหนึ่งหน่วยราชการ 2 หน่วยงาน

ไม่อาจจะตกลงกันได้ว่า หน้าที่ในการป้องกันความเสียหายและการป้องกัน

การสูญเปล่าของน้ำ ควรเป็นหน้าที่ของกรมชลประทานหรือหน่วยงานของ

ตำรวจ แม้แต่ธนาคารโลกก็ได้ให้คำแนะนำว่าควรอยู่ในความรับผิดชอบของ

กรมชลประทาน แต่หน่วยงานทั้งสองก็ไม่มาร่วมประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อ

ให้ได้ข้อสรุปที่แน่นอน ต่างฝ่ายก็ไม่ปรารถนาที่จะรับผิดชอบหรือแม้แต่จะ

ร่วมมือกันก็ตาม

การประสานงานของหน่วยราชการจะเกิดขึ้นยาก เนื่องจากแต่ละหน่วย

ราชการมีงบประมาณของตัวเอง และไม่ต้องการเข้าไปช่วยหน่วยราชการอื่น
เพราะจะต้องแบ่งงบประมาณ ผลประโยชน์ และแบ่งชื่อเสียงที่ตนเองจะได้

รับไปให้หน่วยงานอื่น

บ่อยครั้ง การประสานงานของข้าราชการจะเป็นไปด้วยดีในระดับชาติหรือ

ระดับสูงในกระทรวงในห้องติดแอร์ แต่ถ้าในระดับล่าง ๆ ลงไป

การประสานงานก็ยิ่งมีน้อยลง ๆ อย่างไรก็ตาม การประสานงานอาจเป็นไปได้

อย่างดีถ้าหน่วยราชการหรือข้าราชการในแต่ละหน่วยงานได้รับผลประโยชน์

ตอบแทนมากเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นเงิน ชื่อเสียง หรือได้หน้า แต่ถ้า

ผลประโยชน์มีน้อย การประสานงานจะเกิดน้อยด้วย เข้าทำนอง "เงินไม่มา

ทำไม่เป็น" หรือ “เงินดี งานเดิน เงินเกิน งานวิ่ง เงินนิ่ง งานหยุด” สำหรับ

ข้ออ้างที่นำมาใช้คือ หน่วยงานของตนมีงานประจำล้นมือและมีกำลัง

เจ้าหน้าที่น้อย เป็นอาทิ

การขาดการประสานงานของข้าราชการเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ

และการปฏิรูประบบราชการอย่างมาก ด้วยเหตุที่การปฏิบัติงานพัฒนา

ประเทศต้องอาศัยความร่วมมือหลายหน่วยงาน แต่เมื่อหน่วยงานต่าง ๆ

 ขาดการประสานงานกัน ต่างฝ่ายต่างทำ การพัฒนาประเทศก็ยากที่จะ

ประสบความสำเร็จ ทั้งยังสร้างความสับสนให้แก่ประชาชน กำนันผู้ใหญ่บ้าน

หรือหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่ต้องคอยต้อนรับการเข้ามาปฏิบัติงานของ

หน่วยงานจากหลายกระทรวง โดยแต่ละกระทรวงมีจุดเน้นที่แตกต่างกันไป

ตามความชำนาญและตามนโยบายของตน

5. การทำผักชีโรยหน้า หมายถึงการที่ข้าราชการมีอุปนิสัยที่นิยมชมชอบกับ

การปฏิบัติงานอย่างฉาบฉวย ผิวเผิน และตบตาโดยไม่คำนึงถึงความคงทน

ถาวร แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้งานนั้นเสร็จทันการประกวด การมาตรวจงาน

หรือการมาตรวจเยี่ยมของผู้มีอำนาจที่สามารถใหคุณให้โทษแก่ข้าราชการ

ผู้ปฏิบัติงานนั้น ๆ ได้ การปฏิบัติงานแบบผักชีโรยหน้า มีตัวอย่างให้เห็น เช่น

 ผู้ว่าราชการจังหวัดหนึ่งในภาคอีสานได้รับข่าวสารจากสายใน

กรุงเทพมหานครว่า จะมีคณะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เดินทางมาตรวจการสร้าง

ถนนสายหนึ่งในหมู่บ้าน โดยจะเดินทางมาอีกในสองวันข้างหน้า ผู้ว่าราชการ

จังหวัดเมื่อได้ทราบข่าวก็จะทำการเกณฑ์ช่าง คนงานในจังหวัดเพื่อเร่งสร้าง

ถนนสายนั้นทั้งวันทั้งคืน โดยไม่คำนึงว่า การสร้างถนนที่รวดเร็วเกินไปจะทำ

ให้ถนนไม่ได้มาตรฐาน ไม่คงทนแข็งแรง ทั้ง ๆ ที่นายช่างจากต่างประเทศที่

เข้ามาร่วมในโครงการสร้างถนนสายนี้ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ถนนสายนั้น

เสร็จทันเวลาที่คณะข้าราชการมาตรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับคำชมเชย

ยกย่องว่าปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจากนายในส่วนกลาง อันมีผล

อย่างมากต่อการเลื่อนขั้น แต่ถนนสายนั้นอยู่ได้ไม่นานก็ทรุดและพัง จึงเห็น

ได้ว่า การปฏิบัติงานในกรณีตามตัวอย่างนี้เสร็จทันและให้ผลคุ้มค่าแก่ความ

เหนื่อยยากของผู้ว่าราชการจังหวัดแต่การพัฒนาประเทศสำเร็จหรือไม่เป็น

เรื่องที่น่าจะนำมาคิดกัน

จากตัวอย่างดังกล่าว ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติงานแบบผักชีโรยหน้า

จะเป็นข้าราชการในระดับหัวหน้าส่วนราชการ ส่วนผู้เสียผลประโยชน์ก็คือ

ประชาชนที่ได้รับผลประโยชน์อย่างไม่เต็มที่จากการปฏิบัติงานจอมปลอมนั้น

และเงินงบประมาณของชาติยังถูกผลาญไปเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มน้อย

ที่แปลกมากคือ ประชาชนต่างรู้เห็นและเข้าใจพฤติกรรมเช่นนี้มาช้านาน

 แต่ทำไมข้าราชการระดับสูงจากส่วนกลางที่มาตรวจงานนั้นถึงไม่เข้าใจ

ขบวนการผักชีโรยหน้านั้นและหาทางป้องกันอย่างจริงจัง หรือถ้ามองในด้านลบ

 อาจเป็นเพราะตนเองได้เคยปฏิบัติมาเช่นเดียวกัน

6. การปัดความรับผิดชอบ ลักษณะอุปนิสัยที่ชอบปัดความรับผิดชอบของ

ข้าราชการสังเกตได้จากการวางอำนาจทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน และมีการ

โยนงานกันโดยต่างฝ่ายต่างอ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ทำให้ชักช้า เช่น

 พัฒนากรและเกษตรอำเภอออกไปแนะนำให้ประชาชนปลูกพืชชนิดหนึ่ง

 ต่อมามีผลทำให้ดินที่ปลูกพืชนั้นเสื่อมสภาพ มีแนวโน้มว่าพืชชนิดนี้จะขาย

ไม่ออก ประชาชนจึงไปปรึกษาพัฒนากรเพื่อหาทางแก้ไข พัฒนากรเห็นท่า

ไม่ดีจึงบอกว่าเกษตรอำเภอเป็นคนแนะนำและรู้เรื่องดีประชาชนจึงไปหา

เกษตรอำเภอ เกษตรอำเภอบอกว่ารับนโยบายมาจากจังหวัดอีกทอดหนึ่ง

 ให้ไปหาเกษตรจังหวัด เมื่อไปถึงจังหวัด จังหวัดก็โยนไปให้ส่วนกลาง

โดยบอกว่าทางกรมฯ สั่งมา ขอให้ประชาชนไปติดต่อเอง ทั้งที่แต่เริ่มแรกนั้น

เมื่อเวลาแนะนำให้ประชาชนปลูกพืชผลใดก็เข้าไปถึงท้องนา ได้โฆษณา

ประชาสัมพันธ์การปฏิบัติงานของข้าราชการ แต่เมื่อมีปัญหาอุปสรรคเกิดขึ้น

กลับหาผู้รับผิดชอบไม่ได้ แต่น่าสังเกตว่า หากได้ผลดี ก็จะมีหน่วยงาน

มากมายมาแย่งกันอ้างบุญคุณ ขอเข้ามามีส่วนด้วย หรือร่วมอ้างว่างาน

สำเร็จได้เพราะตน ปรากฏการณ์เช่นนี้ฝังอยู่ในอุปนิสัยของข้าราชการ

ตลอดมา

อุปนิสัยประการนี้ยังเห็นได้จากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บางคนที่มีเงินเดือนสูง

 ความกล้าในการตัดสินใจจะลดลงตามลำดับ จะทำสิ่งใดก็คิดแล้วคิดอีก

หรือโยนให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงขึ้นไปเป็นผู้ตัดสินใจ เข้าทำนอง

ไม่ต้องการเก็บ "เผือกร้อน" ไว้ในมือ เมื่อมีเหตุการณ์วิกฤตใดเกิดขึ้นใน

หน่วยงาน ถ้าสามารถปัดความรับผิดชอบได้ก็จะรีบดำเนินการทันที หรือ

บ่อยครั้งได้หาทางออกด้วยการปัดความรับผิดชอบไปให้กลุ่มบุคคล โดยตั้ง

 "คณะกรรมการ" ให้ร่วมกันรับผิดชอบ เช่นนี้ เป็นความพยายามหลีกเลี่ยง

ให้ไกลจากความเสี่ยงทั้งปวงแล้ว เป็นการกระทำที่ไม่คุ้มกับเงินเดือน

ที่ได้รับ และยังไม่สนใจว่างานราชการจะล่าช้าเพียงใด

การโยนกลองหรือการปัดความรับผิดชอบของข้าราชการ นอกจากทำให้

เกิดความล่าช้าเสียเวลา และเสียเงินทองแล้ว ยังสร้างความรำคาญใจให้แก่

ประชาชน และในบางครั้งทำให้ประชาชนไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องกับทาง

ราชการเพราะได้ไม่เท่าเสีย กล่าวคือ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่พยายามเข้าไปใกล้

การปฏิบัติงานของข้าราชการที่ยึดถือว่า “ความดีชอบ ความผิดซิ่ง”

สำหรับสาเหตุสำคัญของการที่ข้าราชการมีอุปนิสัยที่ปัดความรับผิดชอบ

เป็นต้นว่า เกิดจากการไม่กล้าตัดสินใจด้วยตนเองจึงโยนการตัดสินใจให้

ผู้อื่น เกิดจากความเกียจคร้านของข้าราชการ การไม่กำหนดให้มี "เจ้าภาพ"

หรือผู้รับผิดชอบที่เด่นชัด รวมตลอดไปถึงคำสั่งต่าง ๆ ที่ออกมาคลุมเครือ

ไม่แน่นอนชัดเจน ไม่เพียงเท่านั้น ยังเกิดจากความต้องการรักษาตำแหน่ง

และผลประโยชน์ของตนเองให้คงอยู่ต่อไป ประกอบกับการที่มิใช่เป็น

นักบริหารมืออาชีพ แต่เป็นเพียงนักบริหารมือสมัครเล่นที่รับราชการมานาน

และอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถเข้าดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารได้ ปรากฏการณ์

เช่นนี้มีแนวโน้มที่เห็นได้ในทุกหน่วยราชการ เป็นลักษณะของข้าราชการ

ที่ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ดำรงตำแหน่งโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเกียรติแก่

ตนเองและวงศ์ตระกูล มิใช่เพื่อรับใช้ประชาชนหรือสร้างผลประโยชน์ให้

ประชาชน ทั้งยังไม่คำนึงว่า "ความล่าช้าคือความอยุติธรรม" แต่จะอ้าง

เสมอว่า "เป็นเรื่องละเอียดอ่อน" หรือ "เพื่อให้เกิดความรอบคอบ"

7. การไม่ใฝ่หาความรู้เพิ่มเติม เป็นอุปนิสัยของข้าราชการที่พอใจความรู้

ความสามารถเท่าที่มีอยู่ หรือแม้ไม่พอใจแต่ก็ไม่ต้องการที่จะเสาะแสวงหา

ความรู้เพิ่มเติม ไม่อยากที่จะรับรู้หรือยอมรับเทคโนโลยีที่ทันสมัย สาเหตุ

ส่วนหนึ่งมาจากความคิดที่ว่าถ้ามีความรู้เพิ่มขึ้นแล้ว จะทำให้ตนเองต้อง

มีงานและมีความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นด้วย จึงไม่ขวนขวายหาความรู้เพิ่ม

 เช่น ไม่ต้องการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือไม่ต้องการไปฝึกอบรม

ในบางครั้งอาจวิตกหรือเกรงไปต่าง ๆ นานา เช่น ถ้าศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม

แล้ว จะทำให้ต้องเสียเวลา เสียเงิน ไม่มีใครดูแลครอบครัว สมองของตนเอง

อาจไม่รับ อายุมากเกินไปที่จะเรียน หรือวิชาที่จะเข้าไปเรียนยากเกินไป

เกรงเรียนไม่ได้ ไม่มั่นใจในความรู้ความสามารถของตนเองที่มีอยู่เดิมว่า

เพียงพอที่จะนำไปใช้ในการศึกษาต่อได้หรือไม่ และยังอาจมีความคิดว่าแม้

ไม่ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมก็ไม่เดือดร้อน เพราะตำแหน่งของตนเองก็สูงกว่า

วุฒิหรือปริญญาที่จะไปศึกษาอยู่แล้ว จึงไม่สนใจใฝ่หาความรู้ แต่สนใจที่จะ

ปฏิบัติงานประจำที่ได้รับมอบหมายให้ผ่านไปวันหนึ่ง ๆ บวกกับหน่วยงาน

บางหน่วยหรือผู้บังคับบัญชาบางคนไม่สนับสนุนให้ข้าราชการเพิ่มพูนความรู้

หรือลาราชการไปศึกษาต่อ เพราะผู้บังคับบัญชาเกรงว่าหากผู้ใต้บังคับบัญชา

มีความรู้เพิ่มมากขึ้น จะทำให้ควบคุมสั่งการได้ยาก ไม่ยอมปฏิบัติงานใน

ตำแหน่งเดิม อาจย้ายไปอยู่หน่วยงานอื่น หรืออาจมีความรู้เท่าหรือเหนือกว่า

ผู้บังคับบัญชา เหล่านี้เป็นต้น

การที่ข้าราชการมีอุปนิสัยที่ไม่ใฝ่หาความรู้เพิ่มเติมย่อมส่งผลเสียต่อการ

พัฒนาประเทศและการปฏิรูประบบราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะทำให้

ข้าราชการขาดการพัฒนา ขาดคุณภาพ ไม่อาจรับเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้ง่าย

 ยิ่งในยุคข้อมูลข่าวสารหรือยุคแห่งการแข่งขัน การเพิ่มพูนความรู้ของ

ข้าราชการเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นยิ่ง ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อข้าราชการผู้นำ

ก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งบริหาร ย่อมบริหารงานโดยขาดความรู้ทางวิชาการ

ขาดการคิดและวางแผน ปฏิบัติงาน และประเมินผลอย่างเป็นระบบ ขาดการ

นำข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ ต่อต้านการรับเทคโนโลยีใหม่

ใช้ประสบการณ์ในการบริหารงานโดยละเลยที่จะนำวิชาการและข้อมูลที่ได้

จากการค้นคว้าวิจัยมาใช้ประโยชน์ สภาพเช่นนี้ ยิ่งเป็นผลเสียต่อการพัฒนา

ประเทศและการปฏิรูประบบราชการมากขึ้น

8. การทำตัวเป็นคนบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ข้าราชการบางส่วนเป็นชนชั้นที่มี

เชื้อสายของขุนนางเก่า และแต่เดิมถือกันว่าการรับราชการเป็นการรับใช้

พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชการจึงมีฐานะทางสังคมสูง แต่ถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว

ข้าราชการจัดได้ว่าเป็นพวกชนชั้นปกครอง เพราะฉะนั้น ลักษณะอุปนิสัยหรือ

พฤติกรรมที่ข้าราชการไทยบางส่วนแสดงออกมาก็เป็นผลมาจากการนิยม

ชมชอบหรือสืบเชื้อสายมาจากขุนนางเก่า ตลอดจนยึดมั่นว่าตนเองเป็นชนชั้น

ปกครองดังกล่าว ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายคือ ข้าราชการระดับสูงพยายามทำตัว

เป็นผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่เพื่อให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยเห็นและให้สำนึกว่าเป็น

คนต่ำต้อยวาสนาหรือเป็นคนละชั้นกัน ชอบวางตัววางฟอร์มจนเกินกว่าเหตุ

ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ หรือสร้างขั้นตอน

ต่าง ๆ เช่น ไม่เปิดโอกาสให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยหรือประชาชนเข้าพบได้ง่าย

 เพื่อแสดงว่าตนเองนั้นใหญ่มาก มีความสำคัญมาก ผู้ใดจะขอเข้าพบต้อง

แจ้งชื่อ วัตถุประสงค์ และเวลาของการเข้าพบล่วงหน้าแก่สมุนหรือเลขาฯ

หน้าห้องที่รู้เห็นเป็นใจและได้รับการฝึกฝนจนเชื่องมาแล้วอย่างดีในการ

สร้างเงื่อนไขของการขอเข้าพบดังกล่าว แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่มีเรื่องร้องเรียน

ขึ้นมาก็โยนความผิดให้กับเลขาฯ หน้าห้องว่าเป็นผู้สร้างขั้นตอนต่าง ๆ

ขึ้นมาเอง โดยที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่นั้นจะอ้างว่าตนเองไม่รู้เห็นด้วย

ยิ่งข้าราชการได้รับการฝึกให้รับฟังคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาโดยไม่ขัดขืน

ไม่ถาม ประกอบกับข้าราชการไทยนิยมการรวมอำนาจ และสังคมมีการรวม

อำนาจสูงมาก การกำหนดนโยบายในการพัฒนาประเทศจะออกมาจาก

ส่วนกลาง คือกรุงเทพมหานคร รวมทั้งอำนาจในการออกคำสั่งและเสนอ

ความคิดเห็นของระบบราชการไทยส่วนใหญ่มาจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่

ฝ่ายเดียว เปรียบได้กับน้ำตกที่มีกระแสน้ำไหลจากเบื้องบนลงสู่เบื้องล่าง

เท่านั้น เหล่านี้ยิ่งทำให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยเป็นฝ่ายที่ต้องเชื่อฟังและตกอยู่

ในความเกรงกลัวตลอดเวลา หากไปขัดแย้งกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่

ความก้าวหน้าในชีวิตอนาคตจะไม่เกิดขึ้น เข้าทำนอง “เรือรั่ว เมียชั่ว นายชัง

 เป็นอัปมงคล” ลักษณะอุปนิสัยที่ทำตัวเป็นคนบุญหนักศักดิ์ใหญ่ของ

ข้าราชการนั้น มีลดหลั่นเป็นขั้น ๆ ลงมา เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดย่อมทำ

ท่าทางสง่าใหญ่โตเมื่อพบกับผู้ใต้บังคับบัญชา เช่น ปลัดจังหวัด นายอำเภอ

ตลอดจนเสมียน เป็นต้น ส่วนปลัดจังหวัดหรือนายอำเภอก็จะทำท่าสง่าต่อ

ปลัดอำเภอ หรือเสมียน เสมียนเป็นตำแหน่งสุดท้ายที่ไม่รู้ว่าจะไปเบ่งทำท่า

สง่ากับใครก็ไปทำกับประชาชน ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น เมื่อไปที่

กระทรวงก็จะไปทำพินอบพิเทากับปลัดกระทรวง ไปยืน “กุมจุ่น” อันหมายถึง

 เวลายืนเอามือทั้งสองไปปกไว้ที่สะดือ เป็นอาทิ

การแสดงความยิ่งใหญ่หรือทำให้ตัวเล็กลงในบางโอกาสนั้น เป็นอุปนิสัยหรือ

พฤติกรรมของข้าราชการไทย เปรียบเทียบได้ดั่งอากัปกริยาของสุนัข

กล่าวคือ สุนัขตัวโตมีท่าทางสง่าพองขน เดินคำรามทำท่าสง่าเมื่อเห็นหรือ

อยู่ใกล้สุนัขตัวเล็ก ส่วนสุนัขตัวเล็กก็จะแสดงอาการย่อคลานเข้าไปหา

แต่เมื่อสุนัขตัวเล็กนั้นไปพบสุนัขที่เล็กกว่าก็ตั้งท่าทำสง่าเหนือสุนัขที่เล็กกว่า

เป็นทอด ๆ ไป

การทำตัวเป็นคนบุญหนักศักดิ์ใหญ่ของข้าราชการ แม้ว่าจะเป็นสัญชาตญาณ

ของมนุษย์ และถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะให้ข้าราชการอยู่รอดก็ตาม แต่ถ้ามีมาก

เกินไปก็จะเกิดเป็นผลเสีย จะทำให้เบ่งทับกันหรือวางตัวจนข้าราชการอื่น

และประชาชนเข้าไม่ถึง ผลร้ายก็จะมาตกกับผู้ที่อยู่ส่วนล่างที่สุดของปิรามิด

หรือของสังคม นั่นคือ ประชาชนซึ่งจะเป็นผู้รับแรงกดดันจากการแสดงอำนาจ

บาตรใหญ่มากที่สุดและหนักที่สุด อันมีผลทำให้การพัฒนาประเทศแทนที่จะ

อาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนตามหลักประชาธิปไตย กลับกลายเป็นการ

เข้ามาร่วมพัฒนาประเทศเพราะถูกกดดัน ถูกบังคับจากข้าราชการที่หลง

ตัวเองว่าเป็นคนบุญหนักศักดิ์ใหญ่ หรือลืมรากของตัวเองและใช้อำนาจ

อันมิชอบกับผู้อื่น ซึ่งในบางกรณีเปรียบได้กลับคำกล่าวที่ว่า “คางคกขึ้นวอ” 

 หรือ “วัวลืมตีน”

ลักษณะอุปนิสัยประการนี้มีผลทำให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยไม่กล้าพูด ไม่กล้า

แสดงความคิดเห็น และปล่อยให้การตัดสินใจขึ้นอยู่กับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่

แต่ฝ่ายเดียว เพราะหากไปขัดแย้งกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ความก้าวหน้าใน

ราชการจะมีอุปสรรคได้

9. การชอบสัมมนาและฝึกอบรม การสัมมนาและฝึกอบรมนับเป็นกิจกรรมที่

เสริมความรู้ ความสามารถ ความชำนาญ และประสบการณ์ให้แก่ข้าราชการ

 จึงจัดให้มีขึ้นเป็นประจำ โดยได้รับงบประมาณจากรัฐบาลหรือจากหน่วยงาน

เอกชนทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ในการประชุมสัมมนาและฝึกอบรมที่จัดสำหรับข้าราชการ มีไม่น้อยที่จัดขึ้น

ในสถานที่ไกลจากหน่วยงานต้นสังกัด แต่ใกล้สถานเริงรมย์ ในโรงแรมที่

หรูหราใหญ่โต ในช่วงเช้าวันแรกของการประชุมสัมมนาหรือฝึกอบรมจะมี

ข้าราชการเดินทางไปลงทะเบียน เซ็นชื่อกันอย่างหนาแน่น เพราะวันนั้นจะมี

บุคคลสำคัญและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาเปิดงาน กล่าวปราศรัย แจกเอกสาร

แจกของที่ระลึก และบันทึกภาพเผยแพร่ด้วย หลังจากนั้น จำนวนผู้เข้าร่วม

สัมมนาหรือฝึกอบรมก็จะเริ่มลดลง ในช่วงบ่ายจะมีข้าราชการเข้าร่วมประชุม

น้อยกว่าปรกติซึ่งบางส่วนอาจไปอบรมต่อกันในสถานอาบ อบ นวด

นวดแผนโบราณ หรือปลีกตัวไปทำธุรกิจส่วนตัว โดยเฉพาะข้าราชการที่ซีสูง

 ปล่อยให้ข้าราชการซีต่ำ ๆ เฝ้าห้องประชุม ข้าราชการจะมาเข้าร่วมประชุม

กันอย่างหนาแน่นอีกครั้งหนึ่งก็ต่อเมื่อเป็นวันสุดท้ายซึ่งต้องกลับมาเซ็นชื่อ

รวบยอด และเป็นช่วงการแจกวุฒิบัตร หรือเอกสารรับรองต่าง ๆ ในวันนั้นจะมี

รัฐมนตรีหรือตัวแทน ข้าราชการระดับสูง หรือแขกผู้มีเกียรติมาร่วมเป็น

สักขีพยานและบันทึกภาพไว้เป็นหลักฐานด้วย สำหรับผลการสัมมนาจะออกมา

อย่างไร จะนำไปบังคับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใดไม่ใช่หน้าที่

ของข้าราชการที่ต้องคำนึงถึง เป็นหน้าที่ของคณะผู้จัดสัมมนา ซึ่งจะเตรียม

ผู้รับผิดชอบในการเขียนรายงานผลการสัมมนา หรือมี "มือเขียน" พร้อม

อยู่แล้ว บางครั้งอาจเขียนผลการสัมมนาเสร็จก่อนจัด สำหรับเหตุผลของ

การจัดสัมมนาส่วนหนึ่งเนื่องจากจำเป็นต้องจัดให้ครบกระบวนการปฏิบัติงาน

 มีงบประมาณสนับสนุนหรือได้ของบประมาณไว้แล้วทุกปี ต้องใช้ให้หมด ๆ

 ไป หากใช้ไม่หมดถือว่าบริหารงบประมาณไม่เป็น ปีหน้าอาจไม่ได้รับ

งบประมาณส่วนนี้ หรือถ้าหากไม่จัดจะต้องส่งงบประมาณคืนคลัง และปีหน้า

อาจของบประมาณส่วนนี้ไม่ได้อีกเช่นกัน ในอีกมุมมองหนึ่ง อาจถือเป็น

ส่วนหนึ่งของการนำเที่ยว การสังสันทน์ หรือสวัสดิการสำหรับข้าราชการ

ในส่วนตัวของข้าราชการ บางครั้งการร่วมประชุมสัมมนาหรือฝึกอบรมนั้น

มิใช่ของง่ายถ้าไม่มีเส้นหรือผู้บังคับบัญชาไม่สนับสนุน ดังนั้น ภายหลังจาก

สัมมนาหรือฝึกอบรมกลับไปแล้ว ข้าราชการที่ได้รับอนุมัติให้ไปจึงต้องมีของ

ติดมือไปฝากผู้บังคับบัญชาเพื่อเป็นการตอบแทนความหวังดีของผู้บังคับ

บัญชาที่อุตส่าห์เก็บเรื่องการสัมมนาหรือฝึกอบรมไว้ให้โดยไม่ประกาศให้

ข้าราชการผู้อื่นได้รู้ และปล่อยเรื่องออกมาเมื่อใกล้วันสัมมนาหรือวันอบรม

เพื่อผู้อื่นจะได้ไม่มีเวลาเตรียมตัว หรืออาจกำหนดตัวผู้ที่จะส่งไปสัมมนาหรือ

ฝึกอบรมที่เป็นพวกพ้องไว้แล้วตั้งแต่เริ่มแรก

การสัมมนาหรือฝึกอบรมของข้าราชการจะเป็นผลเสียต่อการพัฒนาประเทศ

ถ้าหากข้าราชการไม่ได้รับการเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ ความชำนาญ

หรือประสบการณ์ตามวัตถุประสงค์ของการจัดมากเท่าที่ควร ด้วยเหตุที่

เป็นการผลาญงบประมาณ เปลืองเวลา สร้างนิสัยฟุ่มเฟือยและเปิดโอกาส

ให้ข้าราชการหลบเลี่ยงงานมาเที่ยวหาความสุขใส่ตัวโดยอาศัยงบประมาณ

 ที่สำคัญคือ มีหน่วยงานน้อยมากที่ประเมินผลการจัดสัมมนาหรือการฝึกอบรม

หรือถ้ามีการประเมินผลก็จะทำเพียงเป็นพิธี หรือเป็นไปในทำนองที่ว่า

"จัดเอง ประเมินผลเอง ยกยอกันเอง และได้ผลเกินคาดเสมอ"

10. คอร์รัปชั่น หรือการฉ้อราษฎร์บังหลวง หมายถึงการที่ข้าราชการมี

ความมุ่งหวังและมีอุปนิสัยทั่วไปที่มุ่งแสวงหาอำนาจ ความมั่งคั่งและ

เกียรติยศจากระบบราชการ เป็นอุปนิสัยที่ข้าราชการแสวงหาอำนาจและ

ผลประโยชน์จากการปฏิบัติราชการในทางมิชอบ การคอร์รัปชั่นทำให้

ประชาชนได้รับความทุกข์มาก เดือดร้อนอย่างแสนสาหัสที่จะทนทานและ

ทำให้รัฐได้รับความเสียหายอย่างสุดคณานับ

คอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากระบบอุปถัมภ์

 แต่เดิมขุนนางหรือข้าราชการไทยไม่มีเงินเดือนประจำดังเช่นปัจจุบัน

จึงต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการรับ “ของกำนัน” จากไพร่ซึ่งเป็นลูกน้องของตน

และจากค่าธรรมเนียมในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อการตอบแทนต่อของกำนัน

ที่ได้รับ ข้าราชการจึงมีหน้าที่ในการให้ความคุ้มครองแก่ไพร่และช่วยให้ไพร่

ของตนได้ก้าวขึ้นไปมีตำแหน่งและอำนาจสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ การสร้าง

อาณาจักรสร้างฐานอำนาจของข้าราชการจำเป็นต้องใช้เงินหรือทรัพย์สิน

เพื่อนำมาเลี้ยงดูและดึงดูดให้ข้าราชการอื่น ๆ เข้าเป็นพรรคพวกและ

จงรักภักดี จึงทำให้ข้าราชการหาช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์ที่

นอกเหนือจากเงินเดือนเสมอ รวมตลอดทั้งการสนับสนุนให้ผู้ใต้บังคับบัญชา

คอร์รัปชั่นด้วย เช่น ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ให้บำเน็จรางวัลตอบแทนแก่

ข้าราชการระดับล่างที่จงรักภักดี โดยเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ปล่อยให้

ข้าราชการระดับล่างนั้นใช้ตำแหน่งหน้าที่หาผลประโยชน์จากส่วนแบ่งการ

ประมูลหรือรับเหมาสร้างถนน อันมีผลทำให้อาณาจักรของข้าราชการชั้น

ผู้ใหญ่นั้นเหนียวแน่นยิ่งขึ้น พฤติกรรมของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เปิดไฟเขียว

ให้ข้าราชการระดับล่างกระทำเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ใต้

บังคับบัญชาแสวงหาผลประโยชน์ และเป็นการสนับสนุนคอร์รัปชั่น

ยังมีตัวอย่างอีกมากมายที่แสดงถึงการที่ข้าราชการมีอุปนิสัยสนับสนุน

ส่งเสริมให้ข้าราชการด้วยกันทำคอร์รัปชั่น เช่น ในอำเภอแห่งหนึ่งได้

กำหนดว่า ประชาชนผู้ใดต้องการมีอาวุธปืนไว้ครอบครองจะต้องเสียค่า

ธรรมเนียมเป็นพิเศษให้แก่ทางอำเภอ โดยกำหนดว่าถ้าต้องการใบอนุญาต

ให้ครอบครองปืนยาวจะต้องบริจาค 300 บาท ส่วนปืนสั้นจะต้องบริจาค

 500 บาท ถ้าไม่บริจาคก็จะมีการกลั่นแกล้งต่าง ๆ นานา เช่น หลักฐานไม่ครบ

 ไม่สมบูรณ์ นายอำเภอไม่อยู่ เจ้าหน้าที่ไม่ว่าง งานล้นมือ หรือแกล้งเรียก

สัมภาษณ์เพื่อไปคุยกันในห้องและขอบริจาคโดยอ้างเหตุผลต่าง ๆ นานา

เช่น ทางอำเภอมีงบประมาณไม่พอ หรืออำเภอได้รับโควต้าเรี่ยไรมาจาก

ทางจังหวัดหรือส่วนกลางบ่อยครั้ง จึงจำเป็นต้องขอเรียกเงินบริจาค เป็นต้น

 เมื่อได้กำหนดไว้เช่นนี้ ประชาชนใดที่ต้องการอาวุธปืนเพื่อปกป้องคุ้มครอง

ทรัพย์สินและชีวิต ก็จะเอือมระอา จำยอมบริจาคเงิน พร้อมกับสาบแช่ง

ไปด้วย หรือถือว่าเป็นทำบุญทำทานแล้วอุทิศส่วนกุศลให้ ส่วนกำนัน

ผู้ใหญ่บ้าน เมื่อรู้หลักเกณฑ์การบังคับบริจาคของทางอำเภอแล้ว ก็จะนำ

ไปบอกต่อกับลูกบ้านพร้อมทั้งบวกค่าเสียเวลาเข้าไปอีก ดังนั้น แทนที่

จะเป็น 300 และ 500 ก็กลายเป็น 500 หรือ 800 บาท เป็นต้น ตาม

ตัวอย่างนี้ ประชาชนเท่านั้นที่เสียผลประโยชน์และนับวันจำนวนเงินใต้โต๊ะ

ดังกล่าวจะสูงขึ้น

การบังคับบริจาคนี้มิใช่มีแต่เพียงในระดับอำเภอและหมู่บ้านดังกล่าวแล้ว

เท่านั้น แต่ได้เริ่มมาจากระดับกระทรวงและกรม ตัวอย่างเช่น ในการจัดมวย

ชิงแชมป์โลกต่อหน้านายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีครั้งหนึ่ง

ปลัดกระทรวงในฐานะข้าราชการประจำที่มีตำแหน่งสูงสุด ต้องการแสดง

ให้เห็นถึงความร่วมมือของข้าราชการในระดับต่าง ๆ ในกระทรวงของตน

 และต้องการให้นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีได้เห็นว่า มีประชาชน

มาดูมวยกันหนาแน่นมากจนบัตรขายหมด อันแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลและ

ความสามารถของตน เพื่อต่อไปภายหน้าอาจได้รับการแต่งตั้งให้เป็น

รัฐมนตรีได้ ปลัดกระทรวงผู้นั้นจึงได้รับบัตรมวยราคาหลายล้านไปขายโดย

กระจายบัตรมวยไปตาม กรม กอง จังหวัด อำเภอต่าง ๆ จังหวัดและอำเภอ

ในส่วนภูมิภาคจะได้รับโควต้าเรี่ยไรมากเป็นพิเศษ จังหวัดหนึ่งนับหมื่นบาท

 ซึ่งทางจังหวัดก็ส่งต่อไปยังอำเภอในสังกัดให้เฉลี่ยการบังคับขายต่อไป

ผลก็คือ หัวหน้าหน่วยราชการที่อยู่ในระดับอำเภอต้องวิ่งเต้นหาเงินมาให้ครบ

 ซึ่งอาจเป็นการออกเงินบริจาคให้เอง เล่นแร่แปรธาตุงบประมาณใน

หน่วยงานของตนผ่านทางฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง หาหนทางดึงเงินมาจาก

งบประมาณของหน่วยการปกครองท้องถิ่นภายในอำเภอของตน หรือหาทาง

คอร์รัปชั่นมาให้จนครบ เพราะถ้าหาไม่ได้ก็อาจแสดงว่าบกพร่องต่อหน้าที่

หรือไม่ให้ความร่วมมือ หัวหน้าหน่วยรายนั้นก็มีสิทธิถูกย้ายไปอยู่อำเภอที่

ทุรกันดานไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด เพราะอำนาจการสั่งโอนย้ายอยู่ที่ส่วนกลาง

 ตามตัวอย่างนี้ ข้าราชการอีกเป็นจำนวนมากต้องตกอยู่ในฐานะจำยอม

และต้องประพฤติมิชอบ มิฉะนั้นตนเองและครอบครัวจะต้องลำบาก

หรือกล่าวได้ว่า ข้าราชการระดับสูงส่วนน้อยได้หน้าได้ผลประโยชน์

แต่ข้าราชการระดับล่างและประชาชนเดือดร้อนไปทั่ว

การบังคับบริจาคเช่นนี้มีให้เห็นในรูปแบบต่าง ๆ สืบต่อกันมาช้านาน

เป็นการบังคับให้ข้าราชการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้ร่วมมือกัน

ประพฤติมิชอบอย่างไม่อายฟ้าดิน และไม่คิดจะปราบปราม ถือเป็นการ

ระดมทุนจากประชาชนที่ลำบากกว่าเข้าไปบำรุงบำเรอกันในส่วนกลางเพื่อ

สร้างฐานะและความเจริญก้าวหน้าให้กับข้าราชการระดับสูงหรือคนกลุ่มน้อย

และพวกพ้อง ถึงแม้ว่ากำไรบางส่วนจะอ้างว่านำไปทำบุญหรือทำทานก็

ไม่เป็นการสมควร เพราะไม่ใช่บุญที่เกิดจากความตั้งใจทำ แต่เกิดจากความ

จำใจจำยอมของผู้ทำ

อุปนิสัยที่สนับสนุนคอร์รัปชั่นมีส่วนส่งเสริมให้เกิดการ "วิ่งเต้น" และการ

"จ่ายส่วย" เพื่อแลกเปลี่ยนกับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งของข้าราชการ

อีกด้วย

ในส่วนของระบบราชการ ก็ได้สนับสนุนให้ข้าราชการมีอุปนิสัยประการนี้ด้วย

เช่น การให้เงินเดือนน้อย การเปิดโอกาสให้ข้าราชการใช้ดุลพินิจอย่าง

กว้างขวางซึ่งนำไปสู่การทุจริตได้ง่าย การขาดระบบควบคุมตรวจสอบและ

ลงโทษข้าราชการที่กระทำความผิดอย่างจริงจังและเข้มงวด ตลอดจนการที่

ข้าราชการระดับสูงไม่ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีเห็นการทุจริตประพฤติมิชอบ

เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ป้องกันปราบปรามอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เมื่อเป็นเช่นนี้

ระบบราชการจึงมีส่วนสำคัญที่ช่วยหล่อหลอมให้ข้าราชการมีอุปนิสัยหรือ

มีพฤติกรรมเป็น "เสือที่หาเนื้อกินเอง"

11. การกีดกันภาคเอกชน การพัฒนาประเทศเป็นงานใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับ

ประชาชนจำนวนมากและครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางมาก การร่วมมือกัน

ปฏิบัติงานของหลายฝ่าย เช่น ภาครัฐและภาคเอกชน จึงเป็นสิ่งสำคัญ

และจำเป็น แต่ในทางปฏิบัติได้เกิดปัญหาระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนขึ้น

 เช่น ข้าราชการมีอุปนิสัยกีดกันภาคเอกชน โดยเฉพาะนักพัฒนาเอกชน

สำหรับเหตุผลที่ข้าราชการกีดกันนั้นมีหลายประการ เช่น ข้าราชการ

ตระหนักดีว่า ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของข้าราชการไม่เท่าเทียม

กับนักพัฒนาเอกชนซึ่งมุ่งผลสำเร็จของงาน ภาคเอกชนมีกฎเกณฑ์การ

ทำงานที่คำนึงถึงความสามารถ รวมทั้งมีขั้นตอนในการทำงานน้อยกว่า

ภาครัฐหรือข้าราชการ

มูลนิธิหรือหน่วยงานพัฒนาภาคเอกชนใดทำงานสำเร็จจะถูกเพ่งเล็งหรือ

ถูกกล่าวหาจากข้าราชการว่าเป็นหน่วยงานเถื่อน รับเงินมาจากต่างชาติ

และถูกมองไปในด้านลบว่าการที่ภาคเอกชนทำงานพัฒนาสำเร็จเป็นเพราะ

พื้นที่ปฏิบัติงานและประชาชนมีจำนวนน้อยกว่าภาครัฐแต่มีเงินทุนสนับสนุน

มากกว่า การทำงานของนักพัฒนาเอกชนผิดขั้นตอนของทางข้าราชการ

 ไม่แจ้งให้ข้าราชการทราบเมื่อเข้าไปทำงานในพื้นที่ ชอบโฆษณาชวนเชื่อ

หรือเป็นนักปลุกระดม หรือเกรงว่าผลงานพัฒนาของภาคเอกชนจะล้ำหน้า

อันอาจทำให้เห็นข้อแตกต่างกันอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับผลงานของ

ข้าราชการ

เมื่อใดก็ตามที่ข้าราชการมีอุปนิสัยกีดกันภาคเอกชนด้วยจิตใจที่ไม่บริสุทธิ์

 ไม่ยอมเปิดโอกาสให้ดึงกำลังพล กำลังความรู้ความสามารถและความ

ชำนาญของภาคเอกชนมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยต้องการผูกขาดไว้ที่

ภาครัฐฝ่ายเดียวทั้ง ๆ ที่ข้าราชการเองก็ไม่มีความสามารถที่จะทำให้สำเร็จ

ได้ด้วยตนเอง เช่นนี้นับว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ เปรียบได้กับ

คำกล่าวที่ว่า "หมาในรางหญ้า" คือตัวเองไม่มีปัญญาทำ แต่ก็กีดกันไม่ให้

คนอื่นทำ หรือ "มือไม่พาย แต่เอาตีนราน้ำ” ก็ได้

12. ความเกียจคร้าน ถึงแม้ว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ชอบความสะดวก

สบาย และไม่มีใครอยากลำบากก็ตาม ข้าราชการก็ยังคงมีหน้าที่อำนวย

ความสะดวกและให้บริการแก่ประชาชนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

มาตรา 70 อย่างเต็มความสามารถ เพราะกินเงินเดือนที่มาจากภาษีของ

ประชาชน แต่ในสภาพความเป็นจริง ข้าราชการบางส่วนมีอุปนิสัยที่ไม่ได้

ใส่ใจในหน้าที่ประการนี้ เห็นได้จากการปฏิบัติงานเป็นไปอย่างไม่เต็มเม็ด

เต็มหน่วยติดต่อกันมาช้านาน

ความเกียจคร้านของข้าราชการบางคนเห็นได้จากการมาทำงานสายแต่

กลับบ้านเร็ว ดังที่กล่าวกันว่า “มาอย่างไทย ไปอย่างฝรั่ง” อันหมายถึง

ข้าราชการไทยมาทำงานอย่างคนไทย คือมาสาย ไม่ตรงเวลาเสมอ แต่พอถึง

เวลาเลิกงานจะเลิกงานตรงเวลาอย่างฝรั่งต่างชาติบางชาติ หรือบางที

ข้าราชการไทยเลิกงานก่อนเวลา อันเป็นคำกล่าวที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะ

อุปนิสัยที่เกียจคร้านของข้าราชการไทย ถ้าสังเกตจะพบว่า การเริ่มปฏิบัติ

งานของข้าราชการจะไม่มีการเริ่มทำงานก่อนเวลาราชการอย่างเด็ดขาด

 จะปล่อยให้ประชาชนรอจนกว่าจะถึงเวลาเริ่มงาน เมื่อประชาชนสอบถาม

ก็ตอบว่า ยังไม่ถึงเวลา โดยไม่ยอมเสียเปรียบประชาชน ตรงกันข้าม

ข้าราชการเลิกงานก่อนเวลาเสมอ คือหยุดทำงานเพื่อเตรียมตัวกลับบ้าน

นานเกินควร กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นการเอาเปรียบประชาชน ยิ่งไปกว่านี้

การลงเวลาเพื่อเข้าหรือเลิกปฏิบัติงานจะมีน้อยคนมากที่ลงตามความ

เป็นจริง ซึ่งเป็นการสอนให้ข้าราชการโกหก

ข้าราชการไทยส่วนใหญ่จะเป็น “ม้าตีนต้น” คือจะขยันมากในช่วงรับราชการ

ครั้งแรก ซึ่งต้องมีช่วงของการทดลองปฏิบัติราชการ เช่น 6 เดือน หลังจาก

ผ่านช่วงเวลาดังกล่าวและได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการโดยสมบูรณ์เป็น

ลายลักษณ์อักษรแล้ว “ลายเดิมก็จะออก” ลายยิ่งปรากฏชัดเจนมากยิ่งขึ้น

เมื่อเข้ามาอยู่ในระบบราชการซึ่งเป็นระบบที่ช่วยเสริมส่งให้ข้าราชการ

ขี้เกียจมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ถึงแม้ว่าข้าราชการทำงานหรือไม่ทำงาน

ดังที่เรียกว่า “ความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฏ” ก็จะได้รับครึ่งขั้นหรือ

หนึ่งขั้นเงินเดือนแน่นอนอยู่แล้ว แถมไม่ถูกไล่ออกได้ง่าย ๆ อีกด้วย

 ขณะเดียวกันการขึ้นเงินเดือนเลื่อนขั้นก็มิได้อยู่ที่ความสามารถ แต่อยู่ที่การ

ประจบสอพลอหรือบางหน่วยงาน เช่น ในมหาวิทยาลัยของรัฐได้ใช้ระบบ

หมุนเวียนการได้สองขั้นจนครบทุกคน อันมีผลทำให้ข้าราชการไม่จำเป็น

ต้องขยัน หรือแข่งขันกับใคร เพราะขยันไปก็ไม่มีทางได้สองขั้น ซ้ำยังถูก

มองว่าขยันหรือทุ่มเทเกินไปทำให้เห็นถึงข้อแตกต่างระหว่างคนขี้เกียจกับ

คนขยันได้ง่าย ถือเป็นการผิดจารีตที่นิยมความขี้เกียจ สองขั้นจะได้ก็ต่อเมื่อ

ถึงกำหนดเวียนของตนและไม่ถูกผู้บังคับบัญชากลั่นแกล้งเท่านั้น

นอกจากนี้แล้ว ระบบราชการที่ “ไล่ออกยาก อย่างเก่งแค่ย้าย” ของ

ข้าราชการไทยยิ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมให้ข้าราชการขี้เกียจมากขึ้น

ลักษณะอุปนิสัยที่เกียจคร้านของข้าราชการเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา

ประเทศและการปฏิรูประบบราชการอย่างแน่นอน ด้วยเหตุที่ข้าราชการ

เป็นกลไกและแขนขาที่สำคัญของรัฐบาลในการปฏิบัติงานตามนโยบายของ

รัฐบาลที่เน้นเรื่องการพัฒนาประเทศและการปฏิรูประบบราชการ หลังจาก

รัฐบาลได้กำหนดนโยบายแล้ว ก็จะส่งต่อมายังข้าราชการกระทรวงต่าง ๆ

ให้ปฏิบัติตามนโยบายนั้น แต่เมื่อข้าราชการเกียจคร้านก็เปรียบเสมือน

แขนขาที่อยู่ในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคไร้ประสิทธิภาพ หรือไม่มี
ประสิทธิภาพเท่าที่ควร เมื่อประชาชนมาทำงานร่วมกับข้าราชการบางคน

ที่ไม่ขยัน ไม่สนใจทำงาน ย่อมทำให้การพัฒนาประเทศและการปฏิรูประบบ

ราชการเป็นไปอย่าง “เต็มที” แทนที่จะเป็น “เต็มที่”

13. การบ้าอำนาจและหวงอำนาจ อำนาจเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงสถานภาพ

ที่แตกต่างกันของคน นั่นก็คือ ผู้ที่มีอำนาจมากย่อมมีสถานภาพสูง ผู้ที่มี

อำนาจน้อยย่อมมีสถานภาพต่ำ ขุนนางมีสถานภาพสูงเพราะมีอำนาจมาก

ประชาชนหรือกรรมกรมีสถานภาพต่ำ เพราะไม่ค่อยมีอำนาจ ในขณะที่

ข้าราชการก็ไม่ต้องการสร้างอำนาจหรือกระจายอำนาจให้แก่ประชาชนด้วย

 เพราะอาจจะถูกนำมาต่อรองในภายหน้ากับทางราชการได้

เรื่องของอำนาจนี้ไม่เพียงทำให้ผู้มีอำนาจมีความพอใจและแสดงออกมา

เท่านั้น แต่ผู้ไม่มีอำนาจทั้งหลาย เช่น ประชาชนหรือคนจนก็ยังยกย่องและ

เคารพบุคคลตามอำนาจที่บุคคลนั้นมีอยู่อีกด้วย ผู้ใดไม่มีอำนาจ อาจถูก

เบ่งทับได้ง่ายและประชาชนทั่วไปก็ไม่ให้เกียรติ แต่พอบุคคลนั้นมีอำนาจ

หรือตำแหน่งหน้าที่ผู้ที่เคยเบ่งทับหรือไม่ให้เกียรติก็จะแสดงความยำเกรง

เคารพ ยกย่อง ด้วยเหตุที่อำนาจมีความสำคัญทำให้มีคนมีสถานภาพสูงต่ำ

เป็นที่สรรเสริญหรือเหยียดหยาม มีความสุขความทุกข์นี้เอง อำนาจจึงเป็น

สิ่งพึงปรารถนาอย่างยิ่งสำหรับคนไทยแทบทุกคน เช่น นักวิชาการไม่อยาก

เป็นนักวิชาการ แต่อยากเป็นผู้มีอำนาจเป็นรัฐมนตรีหรืออธิบดี หมอไม่อยาก

เป็นหมอ แต่อยากเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล อาจารย์ในมหาวิทยาลัย

ไม่อยากเป็นผู้สอนหนังสือ และเขียนตำรา แต่อยากเป็นคณบดี อธิการบดี

 เพราะมีอำนาจให้คุณให้โทษ มีผลประโยชน์ และมีคนคอยเอาใจ เป็นอาทิ

 ถึงกับมีคำกล่าวว่า “อำนาจตั้งแต่ดีกรีเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปถึงอำนาจเด็ดขาด

ที่สามารถสั่งฆ่าคนได้หรือเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนได้ เป็นสิ่งที่คนไทย

ทั่วไปยกย่องและปรารถนาที่จะได้ทั้งนั้น

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ธรรมชาติของมนุษย์ส่วนใหญ่ต้องการมีอำนาจ ฉะนั้น

การใฝ่ฝันอยากมีอำนาจมากน้อยของข้าราชการจึงมิใช่สิ่งเลวทรามหรือ

ผิดจารีตประเพณีตราบเท่าที่การมีอำนาจและการใช้อำนาจนั้นไม่ทำให้

ประเทศชาติเสียหายหรือทำให้ประชาชนเดือดร้อน หรือตราบเท่าที่การใช้

อำนาจนั้นมิได้เป็นในทำนองบ้าอำนาจและหวงอำนาจ

ลักษณะอุปนิสัยการบ้าอำนาจของข้าราชการมีให้เห็นมากบ้างน้อยบ้างใน

ทุกกระทรวง กรม กอง และทุกระดับชั้น เห็นตัวอย่างได้จากที่ประชาชนไป

ติดต่อราชการบางครั้งจะได้รับการตอบรับอย่างเย็นชา เสียไม่ได้ เกรี้ยวกราด

 อาจเนื่องมาจากข้าราชการชั้นผู้น้อยถูกข้าราชการชั้นสูงกว่ากดดันมาและ

ไม่รู้ว่าจะไปหาทางออกจากใคร ก็มาหาทางระบายให้กับประชาชนผู้ติดต่อ

ราชการ บ่อยครั้งที่ประชาชนบางคนจำเป็นต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ แต่ทั้งที่

จ่ายเงินไปแล้ว ก็ยังต้องเสียเวลารอ และบางครั้งอาจถูกด่าโดยข้าราชการ

ที่บ้าอำนาจอีกด้วย เช่นนี้ ทำให้ประชาชนเกิดความเบื่อหน่าย

ส่วนอุปนิสัยของการหวงอำนาจนั้น เห็นได้ในกรณีที่ข้าราชการในหน่วยงาน

อยากอยู่ในอำนาจในตำแหน่งบริหารให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ คือ

ไม่ไล่ไม่ออก หรือถึงไล่ก็ไม่ออก โดยไม่ยอมเปิดโอกาสให้คนรุ่นหลังได้ลอง

มาเป็นผู้บริหารบ้าง แม้ตัวเองจะไม่มีสมรรถภาพปานใดก็ตาม การหวงอำนาจ

หรือผูกขาดอำนาจของข้าราชการมิใช่เพิ่งเกิดขึ้นหลังปี พ.ศ. 2475 แต่เป็น

ส่วนหนึ่งของชีวิตในสังคมไทยมาช้านานแล้ว อย่างน้อยที่สุดตั้งแต่

สมัยอยุธยา

 ยิ่งไปกว่านั้น ข้าราชการประจำยังทำตัวเป็นศัตรูกับข้าราชการเมืองด้วย

เพราะไม่ต้องการให้ข้าราชการเมืองหรือนักการเมืองมาก้าวก่ายหรือควบคุม

หรือลดอำนาจและผลประโยชน์ของตน

การบ้าอำนาจและการหวงอำนาจของข้าราชการนี้ มีส่วนสำคัญทำให้การ

ตัดสินใจในการปฏิบัติหน้าที่ราชการของข้าราชการเป็นไปด้วยเหตุผล

ส่วนตัว หรือมีอคติมากกว่ายึดหลักการและเหตุผลของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

 ซึ่งไม่เพียงแต่ทำลายประชาชนเท่านั้น แต่ยังทำลายข้าราชการด้วยกันเอง

 ข้าราชการรุ่นหลังไม่มีโอกาสแสดงความสามารถ แสดงฝีมือ ปล่อยให้

ข้าราชการที่บ้าอำนาจและหวงอำนาจทำการฝังรากให้รากงอกหยั่งลึก

ในสังคมไทยต่อไป

14. การสร้างอาณาจักร อาณาจักรของข้าราชการมีวิวัฒนาการมาช้านาน

กว่า 700 ปี นับตั้งแต่สมัยสุโขทัย ผ่านสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสืบต่อมา

ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ข้าราชการได้ร่วมกันสร้างอาณาจารให้มั่นคงถาวร

เป็นสถาบันที่เข้มแข็ง ถึงกับมีคำกล่าวเปรียบเทียบว่าในอดีตการปกครอง

ของไทยเป็นระบบอำมาตยาธิปไตยดังกล่าวแล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่าถึงแม้

ข้าราชการจะเป็นผู้มีอิทธิพลตัวจริง แต่การใช้กำลังและความรุนแรงของ

ข้าราชการมีน้อย จึงมีส่วนทำให้อิทธิพลของข้าราชการหรือระบบ

ราชการไทยเป็นไปในลักษณะกินลึก กินนาน และซึมซาบไปทั่วประเทศ

ทุกจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน อย่างไรก็ดี การสร้างอาณาจักรมิใช่

เรื่องเสียหาย ตราบใดที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน

สำหรับลักษณะอุปนิสัยการสร้างอาณาจักรของข้าราชการไทยส่วนหนึ่ง

เห็นได้จากการรวมพวกพ้องที่มีผลประโยชน์ต้องกัน พ้องกัน และเหมือนกัน

แล้วใช้พลังกลุ่มพลังอำนาจนั้นไปดึงงานถ่วงงานเพื่อหาผลประโยชน์

ในทางมิชอบ ไม่อำนวยความสะดวกให้ประชาชน สร้างขั้นตอนให้ยุ่งยาก

เสียเวลาเพื่อจะได้บีบให้ประชาชนต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ เช่น ไม่ปฏิบัติงาน

ให้ประชาชนที่มาติดต่อราชการก่อนตามลำดับ แต่เร่งปฏิบัติงานให้แก่

หน้าม้าหรือพรรคพวกที่เลี้ยงเอาไว้ หรือเร่งทำให้ประชาชนที่จ่ายเงิน

ใต้โต๊ะก่อน เมื่อประชาชนร้องเรียนต่อหัวหน้าหน่วยราชการนั้น หัวหน้า

หน่วยราชการก็มิได้ห้ามปรามตักเตือน กลับถ่วงเรื่องร้องเรียนให้ช้า หรือ

ช่วยแก้ตัวแทนให้ลูกน้องนั้น อันแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่เป็นพวกพ้องกัน

 และร่วมกันปกปักรักษาผลประโยชน์ที่พึงจะได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่

อันมิชอบนั้นแล้วนำมาจัดสรรปันส่วนกันตามอำนาจและความเสี่ยง รายได้

ที่ได้มาจากการประพฤติมิชอบบางส่วนยังนำไปเฉลี่ยให้กับข้าราชการอื่น

ในหน่วยงานเดียวกันเป็นประจำทุกเดือน เพื่อเป็นการปิดปากหรือดึงให้

เข้ามาอยู่ในขบวนการหรืออาณาจักรเดียวกัน ถ้าข้าราชการคนใดไม่ยอมรับ

 ก็จะถูกเพ่งเล็งและอาจถูกบีบให้ต้องย้ายออกไปจากหน่วยงาน ข้าราชการ

จำนวนมากจึงจำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในขบวนการรับส่วยและโกงกินอย่าง

หลีกเลี่ยงได้ยาก ตัวอย่างเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงการร่วมมือกันสร้างอาณาจักร

ในทางมิชอบและร่วมกันโกงกินชาติบ้านเมืองด้วยการนำมาผลประโยชน์

ในทางมิชอบมาแบ่งปันกันทั้งหน่วยงาน เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดที่ได้ยิน

เสมอ ๆ จากข้าราชการระดับสูงหน้าจอทีวีว่า "ข้าราชการส่วนใหญ่เป็นคนดี"

จึงขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในหน่วยราชการ เช่น อำเภอ

หรือโรงพัก คำพูดที่สอดคล้องกับความเป็นจริงน่าจะพูดว่า "ข้าราชการ

ส่วนใหญ่เป็นคนดีที่เสียแล้ว" เพราะข้าราชการที่ดีส่วนใหญ่จะถูกระบบ

กลืนหรือถูกบีบบังคับโดยผู้บังคับบัญชาหรือกลุ่มข้าราชการที่เลวเพียง

ไม่กี่คนให้ร่วมรับส่วนแบ่ง ถ้าต่อต้านหรือไม่ร่วมด้วยก็จะเกิดผลเสียกับ

ตนเอง จึงจำเป็นต้องตกกระไดพลอยกระโจนและจำยอมเข้าไปร่วมอยู่ใน

ขบวนการประพฤติมิชอบทั้ง ๆ ที่ใจไม่ต้องการทำเช่นนั้น

ดังนั้น พึงเชื่อมั่นแม้ไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรได้ว่าถ้าหน่วยราชการ

ใดมีข่าวฉาวโฉ่ว่าข้าราชการรับส่วยหรือโกงกิน ย่อมมีแนวโน้มว่า หัวหน้า

หน่วยงานนั้นต้องรู้เห็นเป็นใจหรือร่วมอยู่ในขบวนการรับส่วยหรือโกงกิน

นั้นด้วย จะปฏิเสธว่าไม่รู้เห็นได้ยาก เข้าทำนอง "ถ้าหัวไม่ส่าย หางไม่กระดิก"

 ทั้งนี้เพราะลูกน้องไม่อาจรับส่วยหรือโกงกินได้ถ้าหัวหน้าไม่เปิดโอกาสให้

 การเปิดโอกาสของหัวหน้าดำเนินการโดยไม่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของ

ลูกน้องอย่างใกล้ชิด ไม่ลงโทษอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เมื่อใดพลาดท่า

มีเรื่องร้องเรียนเกิดขึ้น ก็จะพยายามหาทางช่วยเหลือปกป้องให้ด้วย

บ่อยครั้งที่หัวหน้าบางคนจะเสแสร้งทำเป็นไม่รู้เรื่องไม่รู้ไม่เห็น ทำเป็น

ผู้บริสุทธิ์ แต่รับหุ้นลมหรือส่วยรายเดือนเป็นประจำ

การที่ข้าราชการช่วยกันสร้างอาณาจักร โดยยึดถือผลประโยชน์ที่เรียกร้อง

โดยผิดกฎหมายจากประชาชนที่มาติดต่อราชการนี้ บางครั้งตัวข้าราชการเอง

ก็มิทราบว่ากำลังสร้างอาณาจักรขึ้น เพียงแต่หวังผลประโยชน์ใส่ตัว

เฉพาะหน้า และปลอบใจตัวเองว่าหน่วยราชการอื่นก็ทำเช่นเดียวกัน

การสร้างอาณาจักรของข้าราชการเป็นสิ่งทำลายการพัฒนาประเทศ

เพราะทำให้ข้าราชการได้มีโอกาสใช้อาณาจักรที่เข้มแข็งนั้นมุ่งแสวง

ผลประโยชน์ใส่ตนและพวกพ้องเพิ่มมากขึ้น ๆ โดยถือว่าเป็นหน้าที่หลัก

ซึ่งถือว่าเป็นผลประโยชน์มากกว่าเงินเดือนประจำ ส่วนการรับใช้ประชาชน

ถือเป็นหน้าที่รองหรืองานอดิเรก ดังนั้น จึงรับใช้ประชาชนด้วยปาก

หลอกล่อไปวันหนึ่ง ๆ จนกว่าจะย้าย การรับใช้ประชาชนอย่างจริงจัง

จะเกิดต่อเมื่อผู้ใหญ่มาตรวจหรืออยู่หน้ากล้อง เป็นต้น

อุปนิสัยที่ชอบสร้างอาณาจักรของข้าราชการยังมีส่วนสำคัญทำให้ระบบ

ราชการเปลี่ยนแปลงมาเป็นสถาบันที่ทำลายสังคมไทยและประชาชน

ตลอดมาด้วย เห็นได้จากการที่รัฐบาลพยายามปฏิรูปหรือปฏิสังขรณ์ระบบ

ราชการอย่างจริงจังเพื่อประโยชน์ของประชาชน จะไม่ได้รับความร่วมมือ

 จะถูกต่อต้านทั้งบนดินและใต้ดิน ถึงกับมีคำกล่าวว่า จะปฏิรูปก็ได้ แต่ขอให้

ข้าราชการผู้นั้นเกษียณอายุไปก่อน ดังเช่น ข้าราชการบางส่วนพยายาม

สกัดกั้นไม่ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงในบางจังหวัดที่

พร้อมตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มาตรา 78 ด้วยเหตุผล

หลักคือ เกรงตัวเองจะเสียผลประโยชน์ เป็นต้น

เท่าที่ผ่านมา การปฏิรูประบบราชการบางครั้งเป็นไปอย่างฉาบฉวยเล็ก ๆ

น้อย ๆ พอเป็นพิธีเท่านั้น ถ้าปฏิรูปมากไปกว่านี้ กลุ่มข้าราชการที่มีอิทธิพล

จะบิดเบือนสถานการณ์และกล่าวหาว่านักการเมืองแทรกแซงหรือกล่าวหา

ว่าเป็นการทำลายชาติ แทนที่จะยอมรับว่าการปฏิรูประบบราชการเป็นสิ่งที่

ถูกต้องควรกระทำให้ได้ผลเพื่อประโยชน์ของประชาชน อันมิใช่เป็นการมุ่ง

ทำลายผลประโยชน์หรือทุบหม้อข้าวของข้าราชการ

การสร้างอาณาจักรของข้าราชการนั้นมีความเกี่ยวพันกับคอร์รัปชั่นอย่าง

แน่นแฟ้น ตัวอย่างเช่น ข้าราชการระดับสูงทั้งหลายมีความจำเป็นอย่าง

หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องรวบรวมพวกพ้องเพื่อสร้างอาณาจักรและปกป้องผล

ประโยชน์ของตน จึงทำให้เกิดการแข่งขันกันสร้างอาณาจักรด้วยการเสนอ

ผลประโยชน์แก่ข้าราชการระดับต่ำกว่าเพื่อดึงดูดให้เข้ามาเป็นพวกพ้อง

รวมทั้งการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการเพื่อให้ได้ทรัพย์สินมาเลี้ยงดู

แจกจ่ายพวกพ้องให้สวามิภักดิ์ ดังได้กล่าวไว้แล้ว

15. การประจบสอพลอ การประจบสอพลอของข้าราชการมีมานาน อาจ

ดำเนินการกันอย่างลึกซึ้งจนผู้ถูกประจบสอพลอเผลอตัว นึกว่าตนเป็นผู้มี

บุญวาสนา ฟ้าส่งมาเกิด ขบวนการประจบสอพลอที่เด่นชัดเกิดขึ้นในสมัย

จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีข้าราชการระดับสูง คืออธิบดีที่ใกล้ชิดกับ

จอมพล ป. ได้ประจบสอพลอเจ้านายด้วยการกล่าวกับจอมพล ป. ว่า

เมื่อมองไปที่ท่านจอมพลได้เห็นแสงสีเป็นรัศมีพวยพุ่งขึ้นมาบนศีรษะของ

ท่านจอมพล ต่อมานำไปให้คนทรงดู คนทรงบอกว่า จอมพล ป. คือ

 พระนเรศวรกลับชาติมาเกิด สิ่งที่ตามมาก็คือ ข้าราชการผู้นั้นได้ดิบได้ดี

 ผู้ถูกประจบสอพลอก็พลอยหลงตัวเองว่าเป็นสมมุติเทพในคราบของ

คนสามัญธรรมดา แต่ในที่สุดก็ประสบกับชะตากรรมที่รันทด คือต้องถูก

ปฏิวัติขับไล่ ไม่มีแผ่นดินอยู่ในประเทศไทย และในที่สุดต้องไปตายใน

ต่างประเทศ

ปัจจุบันมีข้าราชการบางส่วนประจบสอพลอเช่นเดียวกับสมัยจอมพล ป.

แต่ออกมาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ได้ตั้งเป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษเร่งด่วน

สำหรับยกป้าย คือ สั่งปุ๊บ ยกปั๊บ หรือวิทยุถึงปุ๊บป้ายเรียบร้อยทันที ป้ายที่

ยกนั้นเป็นป้ายสรรเสริญเยินยอ ให้ผู้ที่ถูกยกยอหลงตังเองว่ามีความสามารถ

 มีคนรักมาก เป็นที่น่าแปลกใจว่าปัญหาความล่าช้าในวงราชการไม่มีปรากฏ

ให้เห็นในกรณีเช่นนี้ ต่อมาได้มีการเรียกพวกประจบสอพลอว่า พวก

“กายเป็นชาย ใจเป็นขันที” สืบเนื่องมาจากเหตุผลที่ว่าขันทีที่ร่ำรวยมากซึ่ง

อาจเทียบได้ตั้งแต่ ซี 7 ถึงซี 8 ไปจนถึงซี 11 ได้มาจากการประจบสอพลอ

ลูกเดียว ซึ่งทำให้ผู้ปกครองแผ่นดินเสียชื่อเสียงและเสียคนไปมากต่อมาก

อาจไม่เป็นธรรมอย่างมาก ถ้าไม่พิจารณาถึงมูลเหตุบางประการที่ทำให้

ข้าราชการจำเป็นต้องประจบสอพลอผู้บังคับบัญชา เช่น ถ้าข้าราชการ

ไม่ทำการประจบสอพลอข้าราชการผู้นั้นอาจถูกผู้บังคับบัญชากลั่นแกล้งได้

เพียงแต่ผู้บังคับบัญชาได้รับบัตรสนเท่ห์ที่ไม่มีชื่อผู้ร้องเรียนหรือหลักฐาน

เลื่อนลอย ข้าราชการนั้นอาจถูกสั่งย้าย ถูกพักราชการ ถูกสอบสวน ถูกงด

บำเหน็จความชอบได้ง่าย ๆ เพราะอำนาจในการตัดสินใจว่าจะตัดสินใจดำเนิน

การทางวินัยนั้นอยู่ที่ผู้บังคับบัญชา ดังนั้น ข้าราชการไทยจึงต้องพยายาม

เอาอกเอาใจคอยเฝ้ารับใช้ผู้บังคับบัญชาอยู่เสมอ เพื่อให้ท่านมีเมตตาสงสาร

 คอยปกป้องคุ้มครองภัยทั้งหลายให้

ลักษณะอุปนิสัยของข้าราชการที่ประจบสอพลอนั้นเป็นภัยต่อการพัฒนา

ประเทศและการปฏิรูประบบราชการในแง่ที่การปฏิบัติงานพัฒนาประเทศ

ของข้าราชการจะเป็นการกระทำที่เอาอกเอาใจผู้บังคับบัญชาเพียง

สองสามคน หรือเอาใจนายที่สามารถดลบันดาลให้คุณให้โทษแก่ตัวเองได้

เป็นหลัก แทนที่จะปฏิบัติราชการเพื่อตอบสนองประชาชนส่วนใหญ่ ดังนั้น

 ผลประโยชน์ของการพัฒนาประเทศจึงไม่ตกแก่ประชาชนเท่าที่ควร

อันแสดงให้ว่านายของข้าราชการไม่ใช่ประชาชน แต่เป็นข้าราชการที่ให้คุณ

ให้โทษได้ และมีส่วนสำคัญทำให้ข้าราชการไม่มีเวลาจะพัฒนาประเทศหรือ

ปฏิรูประบบราชการ แต่มีหน้าที่หลักคือ “ล้างลิ้นคอยเลีย” และทำให้เกิด

คำที่ใช้ต่อว่าผู้นิยมการสอพลอว่า "จอมสอพลอ" หรือ "จอมเลีย"

16. การรับเลี้ยงกินฟรี การรับเลี้ยงกินฟรีถือว่าเป็นลักษณะอุปนิสัยของ

ข้าราชการไทยที่เด่นชัดอีกประการหนึ่ง ข้าราชการนิยมความสนุกสนานเฮฮา

ชอบสังคม ถ้าข้าราชการคนใดปฏิเสธไม่ไปร่วมงานด้วย อาจถูกต่อว่า

หรือถูกดูถูก เสียดสี ที่ปรากฏกันบ่อยมากคือในทุกเดือนจะมีงานเลี้ยงเป็น

ประจำและอาจเลี้ยงหลายครั้ง เช่น เลี้ยงฉลองยศ ฉลองตำแหน่ง

เลี้ยงวันเกิด เลี้ยงต้อนรับ เลี้ยงอำลา เลี้ยงหาเสียงหาสมัครพรรคพวก ในการ

เลี้ยงแต่ละครั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งผู้จัดและผู้ไปงาน ผู้จัดเสียค่าเหล้า

 ค่าอาหาร ส่วนผู้ไปงานเลี้ยงบางครั้งต้องเสียค่าของขวัญ ค่าใส่ซอง

ปัจจุบันนิยมให้เงินสดใส่ซองมากกว่าของขวัญ ซึ่งถือว่าเป็นภาษีสังคม

อย่างหนึ่ง

การเลี้ยงส่วนมากข้าราชการจะจัดในช่วงต้นเดือนอย่างแน่นอน ช่วงกลาง

เดือนน้อยลงไป ส่วนช่วงปลายเดือนมีน้อยมาก ข้าราชการจึงได้รับฉายาว่า

 “เศรษฐีต้นเดือน” คือ กินเหล้า กินอาหารตามภัตตาคารหรือร้านอาหารกัน

อย่างเต็มที่ในช่วงเงินเดือนออก แต่กลับไปบ้านหรือตอนปลายเดือน

กินแกลบ หรือไม่ค่อยจะมีกิน ลูกเมียอดอยากไม่ว่า ขอให้ได้กินได้เมา

การจัดเลี้ยงเป็นสิ่งดีในแง่ช่วยให้หายเหนื่อยหายเครียดหลังจากปฏิบัติ

ราชการมาแล้ว แต่ถ้าบ่อยครั้งไปเงินเดือนซึ่งได้รับน้อยอยู่แล้ว อาจไม่

พอใช้ ต้องไปกู้หนี้ยืมสินและลูกเมียต้องพลอยลำบาก ขาดความอบอุ่น

มีไม่น้อยที่วันใดเป็นวันเงินเดือนออก ซึ่งอาจออกตอนเช้าหรือสาย วันนั้น

ข้าราชการชายก็จะตั้งวงเหล้ากินเลี้ยงกันในช่วงเที่ยง โดยถือว่าครึ่งวันหลัง

เป็นวันหยุดพิเศษหรือโดดร่มไปโดยปริยาย ส่วนข้าราชการหญิงวันนั้นก็เป็น

วันใช้หนี้ ทวงหนี้ หรือทวงค่าแชร์ แล้วแต่กรณี

การที่ข้าราชการมีอุปนิสัยชอบให้มีการเลี้ยงดูปูเสื่อหรือรับเลี้ยงกินฟรีนี้

นับว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ เช่น ในการเลี้ยงแต่ละครั้งจะสิ้น

เปลืองเงินทอง ลำพังเงินเดือนข้าราชการหรืองบรับรองที่มีอยู่ย่อมไม่

เพียงพอที่จะเลี้ยงดูปูเสื่อแก่ข้าราชการที่มาตรวจเยี่ยมราชการอย่าง

สมเกียรติได้ จึงต้องเรี่ยไรจากพ่อค้าหรือจากราชการด้วยกันเอง อันเป็น

บ่อเกิดของคอร์รัปชั่น อีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังให้ข้าราชการฟุ่มเฟือย

สร้างหนี้สินและเป็นหนี้เงินผ่อนเพิ่มขึ้น ยิ่งทุกวันนี้เงินพลาสติกหรือ เครดิต

การ์ดเข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก มีการจูงใจลดแลกแจกแถมให้กินให้ใช้ก่อน

แล้วจ่ายทีหลังหรือผ่อนทีหลังพร้อมดอกเบี้ย เชื่อมั่นได้อย่างแน่นอนว่าอีก

ไม่นานเกินรอ ข้าราชการและประชาชนจะกลายเป็นลูกหนี้ต้องผ่อนส่งเงิน

ให้ธนาคารอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เรียกว่า “ทำงานผ่อนแบ๊งค์” โดยทั่วไปเรียก

ลักษณะอุปนิสัยของข้าราชการที่ชอบใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยโดยไม่คำนึงถึง

ฐานะว่า เป็นพวก “รสนิยมสูง รายได้ต่ำ”

17. การอนุรักษ์นิยม โดยเนื้อแท้และส่วนลึกของสังคมไทย ยังคงเป็นสังคม

อนุรักษ์นิยมที่ภาคภูมิใจกับระเบียบแบบแผนและขนบธรรมเนียมประเพณี

เสมอมา ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า ข้าราชการไทยแต่เดิมถือว่าเป็นชนชั้นหนึ่ง

ของสังคมไทย เป็นผู้รับใช้พระเจ้าแผ่นดิน และเป็นชนชั้นที่ประกอบด้วย

ผู้สืบเชื้อสายมาจากขุนนางเก่า ด้วยมูลเหตุนี้ จึงทำให้ความอนุรักษ์นิยมได้

สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน อุปนิสัยที่เป็นอนุรักษ์นิยมของข้าราชการแสดงออก

ได้หลายประการ เช่น ไม่นิยมการเปลี่ยนแปลง ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง

หรือแม้กระทั่งมีพฤติกรรมที่แสดงออกให้เห็นถึงความแตกต่างกันระหว่าง

ชนชั้นอย่างชัดเจน เห็นตัวอย่างได้จากประชาชนชนบทเมื่อพบผู้ว่าราชการ

จังหวัดหรือนายอำเภอจะยกมือไหว้และนั่งลงที่พื้น โดยไม่กล้านั่งเก้าอี้

เพราะแต่เดิมผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ที่กษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้ไปปกครอง

เมืองต่าง ๆ ประชาชนจึงถือว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นพ่อเมืองหรือเจ้าเมือง

ซึ่งหมายถึงผู้ปกครองเมือง ถึงแม้เวลาจะล่วงเลยมานานและสถานการณ์

บ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่ลักษณะเช่นที่ว่านี้ก็ยังคงดำรงคงอยู่

และมีให้เห็นเสมอ

ในส่วนของระบบราชการก็มีลักษณะอนุรักษ์นิยมเช่นกัน เห็นได้จากการเป็น

ระบบที่รักษาสถานภาพเดิมที่เป็นประโยชน์แก่ตนไว้มากกว่าการพัฒนา

ระบบราชการไทยยังเป็นตัวถ่วงให้ข้าราชการและประเทศชาติไม่เจริญ

ก้าวหน้าเท่าที่ควร จนถึงกับต้องปฏิรูประบบราชการ เห็นได้จากข้าราชการ

เมื่อเริ่มเข้ารับราชการจะมี "ความคิดริเริ่ม" ต่อมาระบบราชการจะเปลี่ยนให้

ข้าราชการนั้นมีลักษณะ "รักษาสถานภาพเดิม" โดยต่อต้านการเปลี่ยนแปลง

 ท้ายที่สุดระบบราชการจะสนับสนุนให้ข้าราชการมีพฤติกรรม "ท้อแท้ ถดถอย"

ทำงานไปวันหนึ่ง ๆ แบบ "เช้าชามเย็นชาม"

ดังนั้น ลักษณะอุปนิสัยของข้าราชการที่เป็นอนุรักษ์นิยมจึงนับว่าเป็นผลเสีย

ต่อการพัฒนาประเทศและการปฏิรูประบบราชการโดยเฉพาะในแง่ที่การ

เปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่ส่งเสริมหลักการประชาธิปไตยจะถูกต่อต้านจาก

ข้าราชการซึ่งไม่ต้องการให้สถานภาพของตนต้องเปลี่ยนแปลง เช่น

การแสดงออกของประชาชนในการเดินขบวนเรียกร้องขอความเป็นธรรม

เรื่องการประกันราคาพืชผลทางการเกษตร การไปร้องเรียนตามศาลากลาง

จังหวัด อำเภอ หรือแม้กระทั่งที่รัฐสภา หรือทำเนียบรัฐบาล จะถูกเพ่งเล็ง

จากทางราชการว่าเป็นการก่อความวุ่นวายหรือถูกปลุกระดมมา และทุกครั้ง

ข้าราชการจะต้องกล่าวหาว่า มีคนยุแหย่ มีมือที่สามเข้าแทรกแซงเป็นประจำ

ไม่ว่าจะมีจริงหรือไม่ก็ตาม กอปรกับข้าราชการบางส่วนยังฝังใจว่า

ถ้าประชาชนแสดงออกดังกล่าว ถือว่าเป็นความล้มเหลวหรือความบกพร่อง

ของข้าราชการในจังหวัดหรืออำเภอนั้น ๆ ที่ไม่สามารถควบคุมหรือกดหัว

ประชาชนให้เงียบสนิทได้ดังเดิม

18. การขาดจิตสำนึกของการพัฒนาประเทศ ยังไม่มีหลักฐานที่ทำให้เข้าใจ

หรือเชื่อได้ว่าระบบราชการและข้าราชการยอมรับว่าการพัฒนาประเทศ

เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญ

 แต่ข้าราชการส่วนใหญ่มีจิตสำนึกและพฤติกรรมที่คำนึงถึงระบบราชการและ

คำนึงถึงความอยู่รอดของตัวเองมากที่สุด

การที่ข้าราชการมีอุปนิสัยขาดจิตสำนึกในการพัฒนาประเทศเห็นได้จากการ

ไม่กระตือรือร้นที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ แต่ปฏิบัติงานให้เวลาหมดไป

พร้อมกับมั่นใจอยู่เสมอว่าถึงอย่างไรก็ได้รับเงินเดือนเป็นประจำทุกเดือน

โดยไม่ต้องกระตือร้อร้น อันเป็นลักษณะของ "มนุษย์เงินเดือน" และบริษัท

ข้าราชการไทยที่ตนสังกัดอยู่ก็ไม่มีทางเจ้ง มีงบประมาณที่จะนำมาจ่าย

เป็นเงินเดือนได้ตลอดเวลา จะปฏิบัติงานก็ต่อเมื่อได้รับคำสั่งให้ทำหรือ

จะปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็งขึ้นเมื่อมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น

 จัดการประกวดหมู่บ้าน ผู้ชนะจะได้รับรางวัล ได้เกียรติยศชื่อเสียง เป็นอาทิ

การขาดจิตสำนึกของข้าราชการในการพัฒนาประเทศมีผลกระทบทำให้การ

พัฒนาทั้งหลายไม่ได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากข้าราชการและไม่อาจ

ประสบผลสำเร็จได้ง่าย การปฏิบัติงานเป็นลักษณะของการทำงานด้วย

"กาย"  แต่ขาด "จิตใจ" หรือไม่มีไฟในตัวมีแต่ความเปียกแฉะ เฉื่อยชา

 เช่นนี้เป็นลักษณะที่จิตสำนึกของข้าราชการถูกครอบงำด้วยระบบราชการ

 (bureaucracy consciousness) ซึ่งตรงกันข้ามกับการพัฒนาประเทศที่มี

จิตสำนึกของการมุ่งผลสำเร็จของงาน (achievement consciousness)

เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่

19. การแก้ไขปัญหาอย่างไม่เป็นทางการ ปัญหาสำคัญบางประการอาจแก้ไข

ให้ลุล่วงไปได้ด้วยการรู้จักกันเป็นการส่วนตัว หรือการติดต่อกันอย่างไม่เป็น

ทางการและในวงเหล้า ซึ่งอาจเรียกวิธีนี้ว่า whisky and soda contact

เป็นลักษณะที่น่าสนใจของการปฏิบัติราชการในสังคมไทย เช่น มีการ

นัดแนะกันไปกินอาหารตามภัตตาคารหรือร้านอาหารเพื่อปรึกษาหารือ วางแผน

 หว่านล้อม ตลอดจนขอความร่วมมือแล้วแต่เหตุการณ์ ยิ่งถ้าข้าราชการเป็น

ผู้นิยมชมชอบน้ำมังสวิรัติหรือน้ำเปลี่ยนนิสัยแล้ว การให้ความร่วมมือก็จะ

เกิดขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย เพราะอย่างไรก็ต้องนึกถึงบุญคุณที่ได้ดื่มล่วงหน้า

มัดจำกันไว้ก่อนแล้ว และเมื่องานผ่านพ้นไปด้วยดีก็จะกลับมาดื่มกันอีก

อุปนิสัยของข้าราชการที่นิยมการปรึกษาหารือแก้ไขปัญหาอย่างไม่เป็น

ทางการในวงเหล้านี้ ถ้ากระทำเฉพาะในบางกรณีอย่างมีสติรู้จักประมาณ

ก็ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่เสียหาย แต่ถ้าเลี้ยงกันบ่อยเกินไปเดือนหนึ่งหลายครั้ง

ก็อาจเป็นโทษ เช่น เป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บ ความฟุ่มเฟือย นำไปสู่

คอร์รัปชั่น รวมตลอดทั้งเพาะนิสัยชอบรับเลี้ยงกินฟรีอาจทำให้ยึดมั่นกับ

การรับเลี้ยงมากกว่าหลักการและเหตุผล ที่น่าเป็นห่วงมากคือมีข้าราชการ

จำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นเครื่องมือของการแก้ปัญหาอย่างไม่เป็นทางการนี้

โดยหลังจากได้รับการเลี้ยงแล้ว ได้ยอมทำตามคำหว่านล้อมชักจูงทุกอย่าง

โดยไม่คำนึงถึงหลักการและเหตุผลที่แท้จริงของการพัฒนาประเทศ

20. การขาดความคิดริเริ่ม ในการปฏิบัติงานพัฒนาประเทศ ความคิดริเริ่ม

เป็นสิ่งจำเป็นมาก ความคิดริเริ่มในทางที่ดีย่อมทำให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็น

ประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศและการปฏิรูประบบราชการ แต่เป็นที่

น่าเสียดายว่าข้าราชการไทยเป็นจำนวนมากขาดความคิดริเริ่มหรือ

ความคิดริเริ่มสูญสิ้นเร็วเกินไป อีกทั้งระบบราชการไทยก็ไม่สนับสนุนให้

ข้าราชการมีความคิดริเริ่มซ้ำยังทำลายความคิดริเริ่มที่ติดมากับข้าราชการใหม่

อีกด้วย เช่น ข้าราชการบางคนต้องการเสนอแนวคิดใหม่เกี่ยวกับการให้

บริการประชาชน เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน โดยประชาชนจะได้รับ

บริการที่รวดเร็วขึ้น ประหยัด และขจัดขั้นตอนต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น แต่ในที่สุด

ก็ทำไม่ได้ เพราะถ้านำความคิดริเริ่มดังกล่าวไปปฏิบัติ ประชาชนจะได้

ประโยชน์ แต่ข้าราชการจะสูญเสียประโยชน์ เนื่องจากไม่อาจเรียกเงินพิเศษ

ในแต่ละขั้นตอนของการติดต่อราชการจากประชาชนได้ดังเดิม ความคิดริเริ่ม

นั้นจะถูกต่อต้านด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา เช่น อ้างว่าผิดระเบียบ ทำผิดขั้นตอน

 ยุ่งยาก หรือแม้กระทั่งถ่วงเวลาหรือชะลอการนำมาใช้ออกไปเรื่อย ๆ ดังนั้น

ความคิดริเริ่มดังกล่าวจึงถูกทำลาย การปฏิบัติงานของข้าราชการยังคงล่าช้า

 และการทุจริตมีอยู่เช่นเดิม แท้ที่จริงแล้วหน่วยงานและข้าราชการสามารถ

แก้ไขความล่าช้าของการให้บริการประชาชนได้ แต่มีข้าราชการบางส่วน

แกล้งทำเป็นไม่รู้วิธีแก้ไข เพราะมีเหตุผลดังกล่าวแฝงอยู่

การขาดความคิดริเริ่มของข้าราชการเห็นได้จากตัวอย่างที่อดีตข้าราชการ

ประจำและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้หนึ่งได้ออกนโยบาย 7 ร.

 ให้ข้าราชการยึดถือเป็นแนวปฏิบัติเมื่อเดือนเมษายน 2529 อันได้แก่ เรียนรู้

รอบรู้ เร่งรัด รวดเร็ว รอบคอบ เรียบร้อย และรุ่งโรจน์ จะเห็นได้ว่า ไม่มีคำว่า

ริเริ่ม อาจจะเป็นเพราะไม่ต้องการให้ข้าราชการมีความคิดริเริ่มเพื่อมาก่อ

ความวุ่นวาย มาทำลายระบบเดิม และมาทำหลายแหล่งทำมาหากินของ

ข้าราชการบางส่วนก็ได้

อุปนิสัยของข้าราชการที่ขาดความคิดริเริ่มเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ

และการปฏิรูประบบราชการ เพราะการขาดความคิดริเริ่มไม่เพียงทำลายตัว

ข้าราชการซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่าเท่านั้น แต่ยังทำลายความเจริญ

ก้าวหน้าของประเทศชาติและประชาชนอีกด้วย ข้าราชการที่ขาดความคิดริเริ่ม

เปรียบเหมือนกับข้าราชการผู้นั้นไม่มีอนาคต ไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่มองการณ์ไกล

เป็นลักษณะของการย่ำเท้าอยู่กับที่ หรือเดินถอยหลัง ตรงกันข้าม

ถ้าข้าราชการมีความคิดริเริ่มเปรียบเหมือนข้าราชการผู้นั้นได้คิดถึงอนาคต

คิดถึงความก้าวหน้า มีวิสัยทัศน์ โดยคิดล่วงหน้าแล้วพยายามทำให้ได้ตามที่

คิดไว้นั้น เข้าทำนอง "สานฝันให้เป็นจริง" หรือ "ฝันไว้ไกล ไปให้ถึง"

อันเป็นลักษณะของการเดินก้าวไปข้างหน้า

เมื่อนำข้าราชการที่ไม่มีความคิดริเริ่มซึ่งเปรียบเหมือนคนย่ำเท้าอยู่กับที่

มาเปรียบเทียบกับข้าราชการที่มีความคิดริเริ่มซึ่งเปรียบเหมือนคนเดินก้าว

ไปข้างหน้า ก็ยิ่งทำให้เห็นได้ว่า ข้าราชการที่ไม่มีความคิดริเริ่มอยู่ในสภาพที่

เดินถอยหลัง เพราะข้าราชการอีกคนหนึ่งที่มีความคิดริเริ่มนั้นได้ก้าวหน้าไป

ข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้น ความเจริญก้าวหน้าหรือการก้าวไปข้างหน้าไม่เพียงเกิดแก่ตัว

ข้าราชการเองเท่านั้น ยังส่งผลไปถึงประเทศชาติและประชาชนอีกด้วย

เป็นต้นว่า ประชาชนได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกหรือบริการสาธารณะที่

สะดวก รวดเร็ว ทันสมัย ประหยัด สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

ตลอดจนโปร่งใสตรวจสอบได้ ทั้งหมดนี้ ล้วนเริ่มมาจากความคิดหรือ

ความคิดริเริ่ม หรือบางครั้งอาจเป็น "ความคิดที่ออกนอกกรอบ" ทั้งสิ้น

สรุป

ลักษณะอุปนิสัยของข้าราชการที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศและ

การปฏิรูประบบราชการ ทั้ง 20 ประการข้างต้นนี้ เป็นการนำภาพรวมของ

อุปนิสัยของข้าราชการเฉพาะด้านลบมาวิเคราะห์เท่านั้น โดยคาดหวังว่า

จะได้นำมาเป็นแนวทางในการพัฒนา ปรับเปลี่ยน และปลูกฝังอุปนิสัย

ของข้าราชการด้านบวกหรือในทิศทางที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประเทศ

และการปฏิรูประบบราชการ ทั้งนี้ เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและ

ประชาชนส่วนรวมต่อไป

อุปนิสัยดังกล่าวนี้มิใช่เกิดขึ้นกับข้าราชการทุกคนในทุกกระทรวง แต่อาจ

เกิดกับข้าราชการบางคนในบางกระทรวงและในเวลาที่แตกต่างกันได้

 และยังอาจเกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไปได้ด้วย เพราะข้าราชการโดยเนื้อแท้

ก็คือประชาชนนั่นเอง อย่างไรก็ดี แม้ลักษณะอุปนิสัยของข้าราชการดังกล่าว

จะสร้างความขมขื่นให้แก่ประชาชนเสมอมา แต่ลักษณะอุปนิสัยที่ดีของ

ข้าราชการหลายประการที่ตรงกันข้ามกับลักษณะอุปนิสัยด้านลบข้างต้น

 เช่น การมีจิตสำนึกในการพัฒนาประเทศ การสนับสนุนระบอบ

ประชาธิปไตย ความซื่อสัตย์สุจริต การเสียสละ ตลอดจนการแสดง

อุปนิสัย 20 ประการข้างต้นอย่างพอประมาณ อย่างมีสติ และสุขุมรอบคอบ

 ก็ย่อมจะเป็นคุณแก่ตัวข้าราชการและประชาชนบ้างไม่มากก็น้อย

หนทางแก้ไขปรับปรุงลักษณะอุปนิสัยของข้าราชการดังกล่าวให้เป็น

ประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศและการปฏิรูประบบราชการอย่างค่อยเป็น

ค่อยไปและปราศจากความรุนแรง อาจดำเนินการได้โดยมุ่งพัฒนาที่ตัว

ข้าราชการทั้งที่จิตใจและพฤติกรรมของข้าราชการ รวมทั้งมุ่งพัฒนาที่

สภาพแวดล้อม เช่น ระบบเศรษฐกิจ และระบบสังคม ซึ่งครอบคลุมถึง

การที่นักการเมือง โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี รวมทั้งข้าราชการ

ระดับสูงต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี มิใช่ทำตัวเป็นแม่ปูลูกปูหรือปากว่า

ตาขยิบ ถ้าหากไม่มีการแก้ไขที่นักการเมืองและข้าราชการระดับสูงดังกล่าว

พร้อมกับมีมาตรการลงโทษที่เข้มงวด ตลอดทั้งการดำเนินการในลักษณะ

"ยกย่องคนดี และนินทาคนเลว" แล้ว ประชาชนก็จะตกอยู่ในฐานะจำยอม

และจำใจอดทนรอต่อไปจนกว่าข้าราชการที่หนักแผ่นดินจะหมดรุ่นไป

และมีข้าราชการรุ่นใหม่ที่ดีเข้ามาแทนที่

นอกจากนี้แล้ว ประชาชนและสาธารณชนพึงต่อต้านลักษณะอุปนิสัยหรือ

พฤติกรรมของข้าราชการด้านลบทั้ง 20 ประการข้างต้น โดยไม่ควรเงียบ

แต่ควรมีกิจกรรมต่าง ๆ ออกมาในลักษณะที่ทำให้ดัง (make it loud)

ทำให้รู้ว่าข้าพเจ้าไม่กลัวท่าน และอะไรมันจะเกิดก็ให้มันเกิด พร้อมกับ

อาศัยกลไกควบคุมตรวจสอบตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540

 เช่น นำเรื่องเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง คณะกรรมการป้องกันและ

ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา รวมตลอด

ไปถึงการทำหน้าที่เฝ้าระวัง (watch dog) หรือในบางกรณีอาจเฝ้าระวัง

ชนิดกัดไม่ปล่อย (bitting dog) เพื่อเป็นแรงถ่วงหรือแรงดึงรั้งสังคมของ

ข้าราชการในปัจจุบันไม่ให้ตกขอบเข้ารกเข้าพงไปมากกว่านี้ ถึงแม้ว่า

การดึงรั้งนี้จะไม่ได้ผลอย่างเต็มที่และอาจถูกสลายพฤติกรรมไปอย่างรวดเร็ว

 แต่ก็ควรกระทำต่อไป และควรมีความเชื่อมั่นว่า การพัฒนาประเทศไทย

และการปฏิรูประบบราชการไม่อาจสำเร็จได้ ถ้าไม่มีการจัดระบบจำกัด

อำนาจหน้าที่ของข้าราชการก่อน ด้วยเหตุที่ข้าราชการโดยเฉพาะ

ข้าราชการชั้นสูงนั้นเป็นผู้กุมอำนาจของประเทศไว้อย่างแท้จริงมาช้านาน

โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมมากเท่าที่ควร เทียบได้

กับคำกล่าวที่ว่า “ฉิบหายไม่ว่าขอให้ข้า (ราชการ) คงอยู่”


บรรณานุกรม

ภาษาไทย

กมล สมวิเชียร. ประชาธิปไตยกับสังคมไทย. กรุงเทพมหานคร :

สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช. 2520.

คึกฤทธิ์ ปราโมช. สยามรัฐ วันที่ 5 พฤษภาคม 2530, หน้า 9.

คึกฤทธิ์ ปราโมช. สยามรัฐ วันที่ 19 พฤษภาคม 2530, หน้า 9.

คึกฤทธิ์ ปราโมช. สังคมสมัยอยุธยา. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2510.

ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์ (บรรณาธิการ). การมีส่วนร่วมของประชาชนใน

การพัฒนา. กรุงเทพมหานคร : ศูนย์ศึกษานโนบายสาธารณสุข

มหาวิทยาลัยมหิดล, 2527.

ทหารเก่า สยามรัฐ วันที่ 8 เมษายน 2530, หน้า 8.

ธนาธิปัตย์ 27, 2 (เมษายน-มิถุนายน 2526) : 17.

ไพฑูรย์ เครือแก้ว. ลักษณะสังคมไทยและหลักการพัฒนาชุมชน.

กรุงเทพมหานคร : เกื้อกูล การพิมพ์, 2506.

ไพรัชต์ เตชะรินทร์. ธรรมศาสตร์ 8 (4 เมษายน-มิถุนายน 2522) : 99-100.

วิรัช วิรัชนิภาวรรณ. ปัญหาอุปสรรคที่สำคัญของการพัฒนาชุมชน : ประชาชน

 ข้าราชการ และผู้นำรัฐบาล. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2530.

อมร รักษาสัตย์ และ ขัตติยา กรรณสูต (บรรณาธิการ). ทฤษฎีและแนว

ความคิดในการพัฒนา ประเทศ. กรุงเทพมหานคร : สถาบันบัณฑิต

พัฒนบริหารศาสตร์, 2515.

อุทัย เลาหวิเชียร และ ประทาน คงฤทธิศึกษากร (บรรณาธิการ).

 การบริหารัฐกิจ. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ภาพพจน์, 2528.

อุทัย หิรัญโต. ชนชั้นข้าราชการ. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์

โอเดียนสโตร์, 2527.

อรุณ รักธรรม. พฤติกรรมข้าราชการไทย. กรุงเทพมหานคร : ทิพย์อักษร

การพิมพ์, 2524.


ภาษาอังกฤษ

Clark D. Neher. Modern Thai Politic From Village to Nation.

Massachusetts: Schenkman Publishing Company, 1976.

David Morell and Chi-anan Samudvanija. Political Conflict in

Thailand Reform, Reaction, Revolution. Massachusetts:

Oelgeschlager, Gunn & Hain, Publishers, 1981.

Fred W. Riggs. Thailand: The Modernization of a Bureaucratic

Polity. Honolulu: East- West Center Press, 1966.

John F. Embree. American Anthropologist April-June 1950.

John L.S. Girling, Thailand: Society and Politics. Ithaca: Cornell

University Press, 1981.

T.H. Silcock (ed.). Thailand: Social and Economic Studies in

Development. Canberra: Australian National University Press, 1967.

William J. Siffin. The Thai Boreaucracy: Institutional Change and

 Development. Honolulu: East-West Center Press, 1966.

3 ความคิดเห็น:

  1. superslot เครดิต ฟรี เป็นผู้เก็บทุกค่ายเกมสล็อตมาเอาไว้ในที่เดียว ให้บริการเกมคาสิโนออนไลน์ แบรนด์ดังเยอะมาก สมัครกับ พีจี เพียงแค่ USER เดียวก็สามารถเล่นเกมออนไลน์ได้เลย

    ตอบลบ
  2. สล็อต ทดลอง เล่น ระบบใหม่ปัจจุบันที่ได้สะสมเกมทดสอบเล่นสล็อตค่าย PG SLOT ที่ทดสอบ เล่นสล็อตฟรีสปิน ทดสอบเล่นได้ก่อนผู้ใคร ไม่ต้องสมัคร ไม่ต้องฝาก ทดลองเล่นสล็อตฟรี

    ตอบลบ
  3. สล็อต pg ทาง เข้า slot ทาง เข้า เว็บแตกง่าย สมัครเล่นวันนี้แจกฟรี ยินดีต้อนรับทุนท่านไปสู่จักรวาลที่สุด PG SLOT แสนจะท้าทายที่พร้อมจะพาคุณไปเปิดประตูสู่ความร่ำรวยอย่างมากมาย

    ตอบลบ