สิงหาคม 05, 2553

กฎหมายอาญา (1)





สวัสดีค่ะ วันนี้ขอหยิบเอากฎหมายอาญามาลงให้ท่านได้อ่านกันนะคะ

โดยนำมาจากคำบรรยายของดร.เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์ หวังว่าคงเป็น

ประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะคะ



ความรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59-106 เป็นบทบัญญัติทั่วไปของ

ประมวลกฎหมายอาญา ที่จะนำไปใช้ในภาคความผิดและกฎหมายอื่น ๆ ที่มี

โทษในทางอาญา



ตัวอย่าง มาตรา 339 เรืองชิงทรัพย์

คำถาม นายแดงเอาปื่นขู่พนักงานที่ร้านสะดวกซื้อให้ส่งเงินให้ ปืนเกิดลั่นถูกพนักงาน

ถึงแก่ความตาย กรณีนี้นายแดงมีความผิดตาม ปอ.มาตรา 339

วรรค 5 หรือไม่

คำตอบ กรณีนี้ ปืนลั่นไปถูกพนักงาน ไม่มีเจตนาฆ่า ผิดฐานทำให้คนตายโดย

ประมาทตามมาตรา 291 แต่จะผิดมาตรา 339 หรือไม่ เพราะโทษหนัก

กว่า ม.291 มาก ถ้าจะผิดมีหลักอย่างไรในการวินิจฉัย จะใช้ประมวล

กฎหมายอาญาใดในการวินิจฉัย...

ในการตอบนี้ หลักอยู่ที่มาตรา 59 มาตรา 106 ในการใช้กฎหมายที่จะต้อง

แม่นยำ

มาตรา 339 วรรคท้าย ความตายเป็นผล ในกรณีที่มีผลของการกระทำ

เกิดขึ้น ผู้กระทำจะต้องรับผิดในผลนั้นก็ต่อเมื่อผลนั้นเป็นผลโดยตรง

หลักในผลโดยตรงไม่มีบัญญัติ แต่มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้หลายฎีกา

ความตายของพนักงานในร้านสะดวกซื้อเป็นผลโดยตรงจากการที่นายแดง

เอาปืนมาจี้พนักงานหรือไม่ เป็นเพราะอะไร ไม่เอาปืนไปจี้ ปืนก็ไม่ลั่น

ผลโดยตรงเพียงอย่างเดียวเพียงพอหรือ ที่จะทำให้นายแดงรับผิดตาม

มาตรา 339 คำตอบก็คือ จะต้องใช้บทบัญญัติในมาตรา 63 "ถ้าผลของ

การกระทำความผิดใดทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น ผลของการกระทำ

ความผิดนั้นต้องเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้" ใช้หลักผลโดยตรง

เพียงอย่างเดียวไม่พอต้องใช้ผลธรรมดาด้วย

ผลธรรมดา คือ ผลที่วิญญูชนคาดเห็นความเป็นไปได้ของผลนั้น

คาดเห็นไม่จำต้องถึงขั้นเล็งเห็นผล การที่นายแดงคนร้ายเอาปืนจี้

พนักงานร้านเขาประสงค์ต่อทรัพย์ นายแดงไม่ประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผล

แต่ต้องถือว่าการที่ปืนลั่นไปถูกพนักงานตายเป็นผลธรรมดาที่วิญญูชน

คาดเห็นถึงความเป็นไปได้ของผลนั้น เมื่อความตายของพนักงานเป็น

ทั้งผลโดยตรงและผลธรรมดา นายแดงจึงมีความผิดตามมาตรา 339

วรรคท้าย นอกเหนือจากความผิดตามมาตรา 291 และเมื่อผิด

ม.339 วรรคท้ายต้องรับโทษหนักขึ้นอีกกึ่งหนึ่ง เพราะมีการใช้อาวุธปืน



ตัวอย่างข้อสอบอัยการผู้ช่วย

นางสาวงามอายุ 17 ปี ทะเลาะกับบิดามารดา และออกจากบ้านไปอยู่กับ

เพื่อนที่หอพัก บิดามารดาออกติดตามให้กลับบ้านแต่ไม่พบตัว นายเก่งขับ

รถยนต์มารับนางสาวงามจากหอพักไปเที่ยวและนำไปที่ห้องพักของเพื่อนตน

นายเก่งกับนางสาวงามได้ใช้ห้องพักดังกล่าวในการร่วมประเวณีกัน ต่อมา

นายเก่งได้ชวนนางสาวงามไปร่วมประเวณีอีก นางสาวงามเพียงผู้เดียว

รู้ว่าตนตั้งครรภ์ได้หนึ่งเดือนจึงปฏิเสธนายเก่ง ทำให้นายเก่งโกรธจึงทำร้าย

ร่างกายนางสาวงามทำให้นางสาวงามแท้งลูกได้รับบาดเจ็บ ใช้เวลารักษา

ตัว 15 วัน ให้วินิจฉัยว่านายเก่งต้องรับผิดฐานใดหรือไม่

- จากคำถาม ประเด็นแรก

นายเก่งมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปีแต่ไม่เกิน 18 ปี

ไปเสียจากบิดามารดาไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยตาม

มาตรา 319 วรรคแรก เพราะการพรากเป็นการรบกวนอำนาจการปกครอง

ของบิดามารดา แม้นางสาวงามจะหนีออกจากบ้านไปอยู่กับเพื่อนที่หอพัก

แต่การปกครองนางสาวงามยังอยู่กับบิดามารดา การที่นายเก่งนำนางสาวงาม

ไปเที่ยวและร่วมประเวณีโดยบิดามารดาไม่อนุญาตและยินยอม ถือได้ว่า

เป็นการล่วงอำนาจการปกครองและการร่วมประเวณีเป็นมูลเหตุจูงใจถือว่า

เป็นการพรากไปเพื่ออนาจาร

- ประเด็นที่สอง นายเก่งมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตราย

แก่กายตาม ปอ. 295 เพราะนางสาวงามได้รับบาดเจ็บใช้เวลารักษา 15

วัน และฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามม.297(5)

โดยทำให้นางสาวงามแท้งลูก เพราะการแท้งลูกเป็นผลโดยตรงที่นายเก่งได้

ทำร้ายนางสาวงาม คือถ้าไม่มีการทำร้ายก็ไม่มีการแท้งลูก และการแท้งลูก

เป็นผลธรรมดาที่เกิดจากการทำร้ายของนายเก่งตาม ปอ.มาตรา 63



ข้อสอบอัยการผู้ช่วย

คำถาม นางกิ่งคลอดเด็กชายกบบุตรอันเกิดกับนายก้านที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง

ขณะนางกิ่งจะออกจากรพ.นางใหญ่ซึ่งเป็นพยาบาลต้องการจะแกล้งนางกิ่ง

จึงนำเด็กชายจิ๋ว บุตรของผู้อื่นมอบให้นางกิ่งไป นางกิ่งคิดว่าเป็นบุตรของตน

จึงอุ้มกลับบ้าน เมื่อถึงบ้านพบนายก้านซึ่งกลับมาจากต่างจังหวัดพอดี

นายก้านเห็นใบหน้า และสีผิวเด็กชายจิ๋วไม่เหมือนตนจึงด่าว่านางกิ่งมีชู้

และเด็กชายจิ๋วเกิดกับชู้ไม่ใช่บุตรของตน และทำร้ายนางกิ่งจึงฟกช้ำ

ไปทั้งตัว นางกิ่งโกรธแค้นนายก้านมาก จึงจับเด็กชายจิ๋วซึ่งนอนอยู่ในเปล

และจับทุ่มลงอย่างแรงจนเด็กชายจิ๋วคอหักถึงแก่ความตาย เพื่อเป็นการ

ประชดนายก้าน นางกิ่งและนางใหญ่มีความผิดฐานใดหรือไม่

ธงคำตอบ การที่นางกิ่งทุ่มเด็กชายจิ๊วลงกับพื้นคอหักถึงแก่ความตาย เป็นการ

กระทำโดยรู้สำนึกและประสงค์ต่อผล จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตาม

มาตรา 59 แม้การที่นายก้านด่าว่าและทำร้ายร่างกายนางกิ่ง จะเป็นการ

ข่มเหงนางกิ่งอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม แต่นางกิ่งมิได้กระทำความผิด

ต่อนายก้านผู้ข่มเหง กลับไปกระทำความผิดต่อเด็กชายจิ๋ว การกระทำของ

นางกิ่งจึงมิใช่กระทำโดยบันดาลโทสะ ตามมาตรา 72 เพราะจะอ้างบันดาล

โทสะจะต้องกระทำต่อผู้ก่อภัย



ข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา ( สนามเล็ก)

นายแก้ว นายแหวน นายเงิน ตระเวนลักเงินตามตู้โทรศัพท์สาธารณะทราบว่าตู้

โทรศัพท์หน้าหมู่บ้าน เครื่องเสีย ใช้การไม่ได้ จึงนำก้อนกระดาษไปอุดตรงช่อง

หยอดเหรียญเพื่อไม่ให้เหรียญกษาปณ์ตกลงในช่องคืนเหรียญ แล้วแกล้งทำที

ยืนคุยกันอยู่ข้างตู้โทรศัพท์เพื่อสังเกตการณ์ มีผู้มาใช้เครื่องโทรศัพท์หลายราย

แต่ใช้การไม่ได้ทุกคนต่างโมโหและเดินออกจากตู้โทรศัพท์ไป ต่อมานายทอง

เข้ามาหยอดเหรียญกษาปณ์และใช้โทรศัพท์และเห็นเครื่องโทรศัพท์ไม่ทำงาน

และเห็นเหรียญกษาปณ์ไม่ตกลงไปในช่องคืนเหรียญ นายทองมีประสบการณ์

ทราบดีว่าคงมีคนเอากระดาษไปอุดไว้ที่ช่องคืนเหรียญ จึงใช้มือล้วงเข้าไป

ในช่องคืนเหรียญ เอากระดาษที่อุดไว้ออกมา ปรากฏว่ามีเหรียญของคนใช้

โทรศัพท์ก่อนนายทองรวมทั้งของนายทอง ร่วงลงมาเป็นเงินทั้งหมด 98 บาท

นายทองเอาเหรียญกษาปณ์ทั้งหมดใส่กระเป๋าแล้วเดินออกไป นายแก้ว

นายแหวน และนายเงิน จึงเดินเข้าไปหานายทองและอ้างว่าเป็นจพง.ตำรวจ

เห็นเหตุการณ์ที่นายทองล้วงเอาเหรียญกษาปณ์ไปพร้อมกับควบคุมตัว

หากไม่มอบเหรียญกษาปณ์ให้จะดำเนินคดี แต่นายทองรู้ว่าทั้งสามคนไม่ใช่

จพง.ตำรวจ จึงไม่ใส่ใจกับคำพูดและขึ้นรถยนต์โดยสารกลับบ้าน ให้วินิจฉัย

ว่านายแก้ว นายแหวน นายเงิน และนายทองมีความผิดตามประมวลกฎหมาย

อาญาฐานใดบ้าง

ธงคำตอบ เหรียญกษาปณ์ที่ตกลงไปในช่องคืนเหรียญเนื่องจากไม่สามารถ

ใช้โทรศัพท์ติดต่อไปยังสายปลายทางได้ยังเป็นของผู้ใช้โทรศัพท์อยู่

และอยู่ในความครอบครองของเจ้าของเหรียญกษาปณ์ที่รอรับเหรียญกษาปณ์

นั้น การที่เจ้าของเหรียญกษาปณ์ออกจากตู้โทรศัพท์ไปแล้วก็ไม่ได้

หมายความว่ามีเจตนาสละกรรมสิทธิ์ในเหรียญกษาปณ์ที่ติดค้างอยู่นั้น

การที่นายแก้ว นายแหวน และนายเงิน ร่วมกันเอากระดาษไปอุดไว้ในช่อง

คืนเหรียญเพื่อไม่ให้ตกลงไปถึงมือผู้ใช้โทรศัพท์ที่รออยู่โดยติดค้างอยู่ใน

กระดาษที่อุดอยู่ตรงช่องคืนเหรียญ เป็นการลงมือกระทำความผิดฐาน

ลักทรัพย์แล้วแต่เป็นการพยายามโดยการกระทำไปไม่ตลอด เพราะยัง

ไม่ได้เอาเหรียญกษาปณ์ไป นายแก้ว นายแหวน และนายเงิน จึงมีความผิด

ฐานพยายามลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปตามมาตรา

335(7)ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 83 (ฎีกา 4208/2543)

ประเด็นต่อไป การที่นายแก้ว นายแหวน และนายเงิน ซึ่งเห็นการกระทำของ

นายทองและเข้าไปอ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจกับขู่ว่าหากไม่ส่งมอบ

เหรียญให้ทั้งหมดจะจับกุมตัวไปดำเนินคดีนั้นไม่ใช่เป็นการกระทำชิงทรัพย์

เพราะการชิงทรัพย์จะต้องขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย

กรณีไม่ใช่ชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 แต่เป็นการกรรโชกทรัพย์ตาม

มาตรา 337 วรรคหนึ่ง (ฎีกาที่ 2912/2550)

เนื่องจากนายทองผู้ถูกข่มขู่ไม่ยอมมอบเหรียญให้บุคคลทั้งสาม การกระทำ

ของบุคคลทั้งสามจึงเป็นการร่วมกันพยายามกรรโชก ตามมาตรา 337

วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 83

กรณีนายทอง เมื่อเอากระดาษที่ช่องคืนเหรียญออกและเอาเหรียญกษาปณ์

ทั้งหมดไป จึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334

ประเด็น นายทองเป็นตัวการในการร่วมกระทำ

ความผิดกับบุคคลทั้งสามหรือไม่ นายทองไม่มีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับ

นายแหวน นายแก้ว นายเงินจึงไม่มีความผิดตามมาตรา 335 (7)

เมื่อพิจารณาว่านายทองไม่เป็นตัวการ ยังต้องวินิจฉัยต่อว่าแล้วเป็นการ

ช่วยเหลือหรือสนับสนุนหรือไม่ แม้การที่นายแหวน นายแก้ว และนายเงิน

ร่วมกันเอากระดาษไปอุดตรงช่องคืนเหรียญทำให้นายทองเอาเหรียญไป

สะดวกขึ้นเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกก่อนที่นายทองจะกระทำ

ความผิด นายแก้ว นายแหวน นายเงิน ก็ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน

การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ของนายทอง เพราะนายแก้ว นายแหวน

และนายเงิน มิได้มีเจตนาช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกของนายทองในการ

กระทำความผิดฐานลักทรัพย์



คำถาม นายแดงขู่ให้นายดำส่งทรัพย์ชิ้นหนึ่งให้ โดยขู่ว่าถ้าไม่ส่งให้จะ

ทำร้ายร่างกายทรัพย์ที่ส่งให้นายดำคือเครื่องจักร ที่ผู้เสียหายเป็นผู้มีอาชีพ

กสิกรมีไว้ประกอบอาชีพ


คำตอบ

แม้ความจริงสิ่งที่ผู้เสียหายส่งให้เป็นเครื่องจักร ผู้เสียหายซึ่งเป็นผุ้มีอาชีพ

กสิกรรม แต่ผู้กระทำความผิดจะผิดตามมาตรา 339 วรรค 2 ก็ต่อเมื่อรู้ว่า

สิ่งนั้นเป็นเครื่องจักรและเป็นเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้ประกอบอาชีพ

กสิกรรมตามมาตรา 62 วรรคท้ายกำหนดไว้



ส่งท้ายกับคำพิพากษาวันนี้นะคะ

คำพิพากษาฎีกาที่ 5264//2548 แม้ในทาง

พิจารณาจะได้ความว่า การกระทำความผิดฐานรับของโจรของจำเลยได้

กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการปล้นทรัพย์ ซึ่งต้องด้วยลักษณะฉกรรจ์

ในความผิดฐานรับของโจรตามมาตรา 357 วรรคสอง ก็ตาม แต่จะ

ลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นตามลักษณะฉกรรจ์ดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อได้

ความว่า ในขณะกระทำความผิดจำเลย ได้รู้อยู่แล้วว่าทรัพย์ดังกล่าว

เป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ทั้งนี้

ตามมาตรา 62 วรรคท้าย เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า ขณะกระทำความผิด

จำเลยได้รู้อยู่แล้วว่าทรัพย์ของกลางเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำ

ความผิดฐานปล้นทรัพย์ คดีจึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจร

อันต้องด้วยลักษณะฉกรรจ์ตามมาตรา 357 วรรคสอง ไม่ได้ การกระทำ

ของจำเลยคงเป็นความผิดฐานรับของโจรตาม มาตรา 357

วรรคแรก เท่านั้น







"เพราะแสวงหา มิใช่เพราะรอคอย เพราะเชี่ยวชาญ มิใช่เพราะโอกาส

เพราะสามารถ มิใช่เพราะโชคช่วย ดังนี้แล้ว "ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน"




















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น