สิงหาคม 06, 2553
กฎหมายอาญา (2)
วันนี้มาต่อกับสรุปคำบรรยายของท่านอาจารย์ ดร.เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์
ในส่วนของกฎหมายอาญาภาคทั่วไป เรื่องโครงสร้างความรับผิดทาง
อาญากันต่อนะคะ
บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อ
1) การกระทำครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติ
2) การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด
3) การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ
1)การกระทำครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติ
หมายความว่า
1.1 จะต้องมีการกระทำ
1.2 การกระทำครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดในเรื่องนั้น ๆ
1.3 การกระทำครบองค์ประกอบภายในของความผิดในเรื่องนั้น ๆ
1.4 ผลของการกระทำจะต้องสัมพันธ์กับการกระทำตามหลักในเรื่องความสัมพันธ์
ระหว่างการกระทำและผล (ฎ2803/2550)
2. การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด
ในประมวลกฎหมายอาญาที่โดดเด่นที่สุดคิดเร่องการป้องกันตามมาตรา 68
มาตรา 68 บัญญัติว่า "ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของ
ผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้าย อันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็น
ภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกัน
โดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด"
ในการวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาต้องดำเนินการตามโครงสร้างความรับผิด
เป็นขั้นตอนไป จะไม่เกิดความสับสน
คำถาม นายแดงก่อเหตุขึ้นก่อนโดยใช้ปืนยิงนายดำ นายดำกลัว
จึงใช้ปืนของตนยิงนายแดงตาย นายดำมีเจตนาฆ่านายแดงหรือไม่
คำตอบ บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาต่อเมื่อการกระทำครบ
องค์ประกอบตามที่กฎหมายบัญญัติ การที่ดำใช้ปืนยิงแดงถือว่านายดำมี
การกระทำ การกระทำของดำครบองค์ประกอบภายนอก ตามความผิดใน
มาตรา 288
ความผิดอาญาแต่ละฐานแบ่งองค์ประกอบภายนอกออกเป็น 3 ส่วน
1) ผู้กระทำ 2) การกระทำ 3) วัตถุแห่งการกระทำ
มาตรา 288 บัญญัติว่า "ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษ..."
การกระทำของดำจึงครบองค์ประกอบภายนอกของมาตรา 288
ดำจะมีความผิดตามมาตรา 288 เมื่อมีเจตนาฆ่าแดง
หลักในการวินิจฉัยว่าผู้กระทำมีเจตนากระทำความผิดฐานใดได้หรือไม่
1) ผู้กระทำต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิดของฐาน
นั้น ๆ หลักนี้มาจากมาตรา 59 วรรคสาม
2) ผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือมิฉะนั้นต้องเล็งเห็นผล หลักนี้มาจากมาตรา 59
วรรคสอง
การที่ดำใช้ปืนยิงแดง ดำรู้หรือไม่ว่ากระทำของตนเป็นการฆ่า ดำรู้หรือไม่ว่าแดง
เป็นผู้อื่น ถือว่าดำรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายในของมาตรา 288
ประเด็นต่อไป ขณะที่ดำยิงแดง ถือว่าดำประสงค์ให้แดงตาย ความตายของแดง
สัมพันธ์กับการกระทำโดยมีเจตนาฆ่าของดำหรือไม่
กรณีนี้ไม่ต้องใช้หลักผลธรรมดา เพราะเป็นผลที่ทำให้ดำต้องรับโทษหนักขึ้น
แต่กรณีดำกับแดง ความตายของแดงไม่ใช่ผลที่ทำให้ดำต้องรับโทษหนักขึ้น
ให้ใช้คำว่าผลโดยตรง
เห็นได้ว่า แม้การกระทำของดำต่อแดงครบองค์ประกอบความผิด แต่ว่าดำไม่ต้อง
รับผิดในความตายของแดง เพราะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเรื่อง
ป้องกันเป็นกรณีที่กฎหมายยกเว้นความรับผิดให้กฎหมายยกเว้นความผิด
มีหลายกรณี
1)กฎหมายยกเว้นความผิดอาจอยู่ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 68
การป้องกัน หรือทำแท้งตามมาตรา 305
2) กฎหมายยกเว้นความผิดไม่จำเป็นจะต้องบัญญัติไว้เป็นลายล้กษณ์อักษร
เช่น หลักเรื่องความยินยอม ไม่ได้มีบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแต่เมื่อปี
พ.ศ.2508 ศาสตราจารย์ (พิเศษ) จิตติ ติงศภัทิย์ ท่านได้วินิจฉัยไว้ใน
คำพิพากษาฎีกาที่ 1403/2508 ว่าความผิดอาญาบางฐานความยินยอมอาจจะ
ยกเว้นความผิดได้ ถ้าความยินยอมไม่ขัดต่อสำนึกในศีลธรรมอันดีเพราะฉะนั้น
จึงเป็นที่เข้าใจกันว่าการที่แพทย์ผ่าตัดคนไข้ การที่นักมวยชกกันตามกติกาบนเวที
แม้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
กรณีแพทย์ผ่าตัดคนไข้ถ้าคนไข้ถูกตัดแขน เสียแขนเสียขา อันเป็นผลจาก
การผ่าตัด แพทย์จึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้
ได้รับอันตรายสาหัส เพราะความยินยอมของคนไข้ยกเว้นความผิดให้แก่แพทย์ได้
เป็นความยินยอมที่ไม่ขัดต่อศึลธรรมอันดี หลักนี้ไม่มีบัญญัติไว้ ต่างจากหลัก
ความยินยอมของประเทศเยอรมันที่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่าถ้าไม่ขัด
ต่อหลักศีลธรรมอันดียกเว้นความผิดฐานทำร้ายร่างกายได้
จากหลักในคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวนี้ไม่ถือว่าขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 2 บัญญัติว่า "บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการ
อันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้และ
โทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย..."
เนื่องจากหลักยินยอมนี้เป็นหลักกฎหมายทั่วไปนำมาใช้เพื่อยกเว้นความผิด
ไม่ได้นำมาใช้เพื่อลงโทษ
3) กฎหมายยกเว้นความผิดอาจอยู่ในรธน.ก็ได้ เช่น รธน.ที่ให้เอกสิทธิ์แก่
สมาชิกรัฐสภา. ในการแถลงข้อเท็จจริงแสดงความคิดเห็นในรัฐสภา
4) กฎหมายยกเว้นความผิดอาจอยู่ใน ปพพ. ก็ได้ ตัวอย่าง ม. 1347
ถ้ารากไม้ของต้นไม้ของนายแดงรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของนายดำ นายดำตัดรากไม้
ทำให้ต้นไม้ของนายแดงตาย นายดำมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์หรือไม่
บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อ
1)การกระทำครบองค์ประกอบ
1.1 ต้องมีการกระทำ มีเจตนา และประสงค์ต่อผล
2) ครบองค์ประกอบภายนอกทำให้เสียทรัพย์เป็นการทำลาย ทำให้เสียหาย
ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น
ครบองค์ประกอบภายในตามมาตรา 358 มีเจตนา รู้ว่าเป็นการทำลายรู้ว่าเป็น
ทรัพย์ของผู้อื่นประสงค์ต่อผล ผลคือการที่ต้นไม้ของนายแดงตายเป็นผลโดยตรง
จากการกระทำของนายแดง
การกระทำของนายดำต่อนายแดงครบองค์ประกอบตามมาตรา 358แต่นายดำ
ไม่ต้องรับผิดเพราะมีกฎหมายยกเว้นความผิด ปพพ.มาตรา 1347ซึ่งใช้คำว่า
เจ้าของที่ดินอาจตัดรากไม้แสดงว่ามีสิทธิ มีอำนาจกระทำได้ หลักอย่างเดียวกับ
ป้องกันตามมาตรา 68 เพียงแต่การป้องกันบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา
กฎหมายยกเว้นความผิด บัญญัติไว้ในปพพ.ก็ได้ เช่น มาตรา 1347
มาตรา 362 เรื่องบุกรุก คำพิพากษาฎีกาที่ 1/2512 จำเลยใช้ไม้กระดาน
ตีขวางทับประตูห้องพิพาทที่โจทก์ครอบครองในขณะที่โจทก์ไม่อยู่และ
ปิดห้องไว้ ทำให้โจทก์เข้าห้องไม่ได้เป็นล่วงล้ำเข้าไปในอำนาจการครอบครอง
ของโจทก์ถือได้ว่าเข้าไปรบกวนการครอบครองของโจทก์โดยปกติสุข
ตาม ปอ.มาตรา 362 แล้ว
ข้อเท็จจริงของฎีกานี้ โจทก์เป็นผู้เช่า และจำเลยเป็นผู้ให้เช่า ครบกำหนดตาม
สัญญาเช่า โจทก์ไม่ยอมออกจากห้องที่เช่า จำเลยจึงอยากได้ห้องพิพาทนั้นคืน
ช่วงที่ผู้เช่าไม่อยู่ออกไปจากห้องผู้ให้เช่าจึงใช้ไม้กระดานตีขวางทับประตูห้อง
ที่ให้เช่า คดีถึงศาลฎีกา ว่าการที่ผู้ให้เช่าใช้ไม้กระดานตีขวางทับประตูห้องที่ให้
ผู้เช่าเช่าอยู่ทำให้ผู้เช่าเข้าไปในห้องเช่าไม่ได้เป็นบุกรุกหรือไม่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
เป็นบุกรุก เพราะเป็นการล่วงล้ำเข้าไปในอำนาจการครอบครองของผู้เช่า
ถือได้ว่าเข้าไปรบกวนการครอบครองของผู้เช่าโดยปกติสุข ฎีกานี้ยังเป็น
บรรทัดฐานจนถึงปัจจุบันว่าอย่างไรก็ตามแม้ไม่ได้เข้าไปในห้องแต่หากเอาโซ่
ไปล่าม เอากุญแจไปคล้อง เอาไม้ไปปิดผู้ให้เช่ามีความผิดฐานบุกรุก
เมื่อคำวินิจฉัยเช่นนี้ยังมีบรรทัดฐานอยู่ ผู้ให้เช่าจึงหาทางออกด้วยการทำบันทึก
ข้อตกลงว่าถ้าผู้เช่าผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าผู้เช่ายอมให้ผู้ให้เช่ามีอำนาจใส่กุญแจ
ไปใส่ห้องที่ให้เช่าได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าผู้ให้เช่าไม่มีความผิดฐานบุกรุก เพราะว่าอำนาจตามสัญญา
ทำให้ผู้ให้เช่ากระทำได้ไม่ใช่เพราะผู้เช่ายินยอม การยินยอมเกิดตอนทำสัญญาเช่า
แต่ขณะเกิดเหตุไมได้ยินยอม ฎีกาที่วินิจฉัยได้แก่ 2609/2521 5396/2549
คำพิพากษาฎีกาที่ 3025/41 การที่ผู้ให้เช่าไปเปิดประตูตึกแถวที่ให้เช่า
หลังจากนั้นจึงใช้กุญแจของผู้ให้เช่าปิดตึกแถวไว้ ย่อมเป็นอำนาจของผู้ให้เช่า
ที่จะกระทำได้ตามที่ได้ตกลงกันไว้ จึงหาเป็นความผิดฐานบุกรุกหรือทำให้
เสียทรัพย์ไม่ เพราะมีอำนาจกระทำได้ตามสัญญาเช่าข้อสัญญาดังกล่าวไม่ขัดต่อ
ความสงบเรียบร้อยของประชาชนและมิได้เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม แต่ถ้าขณะที่
ผู้ให้เช่ากำลังจะเอากุญแจมาปิด ผู้เช่าอนุญาต ไม่ต้องอ้างสัญญาเช่า
ถือว่ายินยอม ไม่เป็นบุกรุก แต่หากขณะเกิดเหตุ ผู้เช่าไม่ยินยอมผู้ให้เช่าก็
กระทำได้ตามข้อตกลงในสัญญาเช่าที่ผู้เช่าได้ยินยอมไว้แล้วในขณะทำสัญญาเช่า
ก่อนหน้านั้น
2.การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ
มีหลายกรณี เช่น การกระทำความผิดของเด็กอายุไม่เกิน 10 ปี อายุไม่เกิน15 ปี
ตามมาตรา 73 มาตรา 74 การกระทำความผิดด้วยความจำเป็นตามมาตรา 67
คนวิกลจริต มาตรา 65 คนมึนเมา มาตรา 66 คำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายของ
เจ้าพนักงานตามมาตรา 70 ความผิดเก่ยวกับทรัพย์บางความผิดที่กระทำในระหว่าง
สามีและภริยา มาตรา 71 วรรคแรก
3. เหตุลดโทษ
ผู้กระทำต้องรับผิดในทางอาญาแล้ว เพราะไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิดไม่มี
กฎหมายยกเว้นโทษ แต่ว่ากฎหมายใช้เหตุลดโทษ เหตุลดโทษมีหลายกรณี
ดังต่อไปนี้
1. ความไม่รู้กฎหมาย.ตามมาตรา.64
2. คนวิกลจริต มาตรา 65 วรรค 2
3. คนมึนเมา มาตรา 66
4. ป้องกัน จำเป็นเกิดขอบเขต มาตรา 69
5. การกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ระหว่างญาติสนิท 71 ว2
6. มาตรา 75 มาตรา 76
7. มาตรา 78
8. มาตรา 72
ส่งท้ายวันนี้กับคำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจนะคะ
ฎ 7552/2551 จำเลยเป็นบิดาของผู้เสียหาย คืนเกิดเหตุผู้เสียหายดื่มสุรา
จนเมา จำเลยได้ไล่ให้ผู้เสียหายไปนอนที่บ้าน ไม่ให้นอนที่กระท่อมของจำเลย
ผู้เสียหายไม่ยอมไป ได้ด่าจำเลยเสีย ๆ หาย ๆ ด่าว่า พ่อหัวควย พ่อเหี้ย พ่อสัตว์
ไม่รักลูก แล้วผู้เสียหายกลับออกไป 2 ถึง 3 นาที ได้กลับมาใหม่เพื่อมาเอา
ห่อยาเส้น จำเลยไล่ผู้เสียหายกลับไปนอนที่บ้านอีกครั้ง แต่ผู้เสียหายไม่ยอมไป
กลับด่าจำเลยเช่นเดียวกับครั้งแรกและด่าให้อวัยวะเพศชายอีก ทั้งผู้เสียหาย
มีมีดยาว 1 ศอกอยู่ในย่าม และท้าจำเลยให้ออกมาฟันกัน ประกอบกับโจทก์ฎีกา
รับว่า จำเลยโกรธแค้นที่ผู้เสียหายไม่เคารพยำเกรงและด่าจำเลยด้วยถ้อยคำ
หยาบคาย ดังนั้น การที่จำเลยซึ่งเป็นบิดาใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย กรณีจึงเป็น
การกระทำโดยบันดาลโทสะ
ฎ 8079/2549 จำเลยและผู้เสียหายมีสาเหตุขุ่นข้องหมองใจกันจนต่างฝ่าย
ต่างหวาดระแวงอีกฝ่ายจะมาทำร้ายตน ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่ผู้เสียหายเรียกชื่อ
จำเลยและชักอาวุธปืนออกมาจากเอว วิญญุชนเช่นจำเลยย่อมเข้าใจว่าผู้เสียหาย
จะใช้อาวุธปืนนั้นยิงจำเลย ถือได้ว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงตาม ป.อ.
มาตรา 68 แล้ว การที่จะเลยหยิบมีดพร้าที่วางอยู่พื้นถนนซึ่งเป็นของบุคคลอื่น
ฟันทำร้ายผู้เสียหายไปเพียงครั้งเดียวแล้ววิ่งหลบหนีไป จึงเป็นการกระทำเพื่อ
ป้องกันพอสมควรแก่เหตุเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยจึงไม่มีความผิด
"ผมหงอก เป็นสัญลักษณ์ของอายุ ไม่ใช่ปัญญา"
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น