สิงหาคม 01, 2553
รอการลงโทษ กับ รอการกำหนดโทษ
ปัญหานักโทษที่เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นปัญหาหนึ่งของ
กรมราชทัณฑ์ เมื่อใดก็ตามมีนักโทษมากเกินไปย่อมเกิดความแออัด
และทุกครั้งที่มีการปล่อยนักโทษพ้นคุกออกมา สังคมก็ผวาไปเหมือนกัน
ประเทศไทยจึงประสบปัญหากับนักโทษล้นคุก ทำให้การดูแล และปฏิบัติ
ต่อนักโทษไม่เป็นไปตามมาตรฐานองค์การสหประชาชาติว่าด้วย
กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในเรื่องกฎมาตรฐานขั้นต่ำของการปฏิบัติ
ต่อนักโทษ
การลงโทษปัจจุบันแม้จะมีการฟื้นฟูนักโทษไปด้วยในระหว่างจำคุก
แต่มีข้อเสียตรงที่ผู้ถูกจำคุกอาจได้รับการเรียนรู้วิธีการกระทำผิดมากขึ้นจาก
นักโทษอื่น และเมื่อพ้นโทษไปแล้วมักไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม
เกิดตราบาปแก่คนนั้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ซึ่งพ้นโทษ
และมาใช้ชีวิตในสังคมอย่างมาก
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ได้กำหนดเงื่อนไขในการที่ศาลใช้
ดุลพินิจในการใช้มาตรการรอการลงโทษแก่ผู้กระทำผิด ดังนี้
"มาตรา 56 ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุกและในคดีนั้น ศาลจะ
ลงโทษจำคุกไม่เกินสองปี ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน
หรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อนแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำ
โดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ เมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ
ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิตนิสัยอาชีพ
และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้นหรือสภาพความผิดหรือเหตุอันควรปรานีแล้ว
เห็นเป็นการสมควรศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนด
โทษไว้ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้แล้วปล่อยตัวไปเพื่อให้โอกาส
ผู้นั้นกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลได้กำหนดแต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่
วันที่ศาลพิพากษาโดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้น
ด้วยหรือไม่ก็ได้
เงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิดนั้น ศาลอาจกำหนด
ข้อเดียวหรือหลายข้อ ดังต่อไปนี้
(1) ให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานที่ศาลระบุไว้เป็นครั้งคราวเพื่อ
เจ้าพนักงานจะได้สอบถามแนะนำ ช่วยเหลือหรือตักเตือนตามที่เห็นสมควร
ในเรื่องความประพฤติและการประกอบอาชีพ หรือจัดให้กระทำกิจกรรมบริการ
สังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานและผู้กระทำความผิดเห็นสมควร
(2) ให้ฝึกหัดหรือทำงานอาชีพอันเป็นกิจจะลักษณะ
(3) ให้ละเว้นการคบหาสมาคมหรือการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำ
ความผิดใน ทำนองเดียวกันอีก
(4) ให้ไปรับการบำบัดรักษาการติดยาเสพติดให้โทษความบกพร่อง
ทางร่างกายหรือจิตใจหรือความเจ็บป่วยอย่างอื่น ณ สถานที่และตาม
ระยะเวลาที่ศาลกำหนด
(5) เงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดเพื่อแก้ไขฟื้นฟู
หรือป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดมีโอกาสกระทำความผิดขึ้นอีก
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการรอการลงโทษ ได้แก่ กรณีที่ศาลพิพากษาว่าผู้นั้น
มีความผิดและกำหนดจำคุกมีเวลาแน่นอนแล้ว แต่ผู้นั้นยังไม่ต้องถูกจำคุก
เช่น ศาลสั่งจำคุก 2 ปี หากภายใน 2 ปี ไม่กระทำความผิดอีก ถือว่า
ไม่ต้องโทษ การรอกำหนดโทษ ได้แก่ กรณีที่ศาลพิพากษาว่าผู้นั้น
มีความผิด แต่ยังไม่กำหนดโทษจำคุกว่า จะต้องถูกจำคุกเท่าใด เช่น
ศาลพิพากษาว่าให้จำคุก แต่รอกำหนดโทษไว้ 2 ปี (ยังไม่ทราบว่า
จำคุกเท่าใด) หากภายใน 2 ปี กระทำความผิด จึงจะถูกกำหนดโทษ
ถ้าภายใน 2 ปีไม่กระทำผิด ถือว่าไม่ต้องโทษ
การรอการลงอาญาดังกล่าว นับเป็นวิธีการแก้ไขความประพฤติของ
ผู้ได้กระทำความผิดอาญา เปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดได้กลับตนเป็นคนดี
ไม่ต้องถูกจำคุก และช่วยลดจำนวนนักโทษในเรือนจำโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
การจำคุกระยะสั้น ๆ เช่น 15 วัน หรือ 3 เดือน 6 เดือน ไม่ได้ประโยชน์
ในการแก้ไขจิตใจให้ดีขึ้นแต่อย่างใด กลับทำให้เกิดผลเสียต่อผู้นั้น ผลเสีย
ต่อเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องใช้จ่ายเงินในการควบคุมดูแล ผลเสียต่อ
ภาวะจิตใจของครอบครัว เศรษฐกิจของครอบครัว ปัญหาต่าง ๆ ของครอบครัว
ซึ่งกลับเป็นผลเสียของสังคม ดังนั้น วิธีการรอการลงโทษและรอการ
กำหนดโทษ เป็นวิธีการที่นิยมกันในนานาประเทศ
ผู้ที่กระทำผิด และคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ถ้าผู้นั้นไม่เคย
ต้องโทษจำคุกมาก่อน หรือเคยถูกจำคุกแต่เป็นโทษสำหรับความผิดโดย
ประมาทหรือลหุโทษ ศาลจะได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา
การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะจิตใจ นิสัย อาชีพและสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น
หรือสภาพความผิดหรือเหตุอื่น ๆ อันควรปรานี ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นผิด
แต่รอการกำหนดโทษไว้ หรือรอการลงอาญา ปล่อยตัวผู้นั้นเพื่อให้โอกาส
กลับตัวภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี บางรายอาจจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อ
ควบคุมความประพฤติด้วยหรือไม่ก็ได้ เช่น ให้ไปรายงานตัวต่อศาลหรือ
เจ้าพนักงานเป็นครั้งคราว ให้ฝึกหัดหรือทำงานอาชีพ ให้ละเว้น
การคบหาสมาคม หรือการประพฤติอันอาจนำไปสู่การกระทำผิดอีก"
การใช้ดุลพินิจของศาลในการรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษจึงมี
ความสำคัญมากในกระบวนการพิจารณาพิพากษาของศาล และเมื่อพิจารณา
ถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงในการรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษ คือ
การหลีกเลี่ยงการลงโทษจำคุกระยะสั้น และเป็นการให้โอกาสแก่ผู้กระทำ
ความผิดได้กลับตนเป็นคนดีของสังคมภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร
โดยจะมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขก็ตามเพื่อแก้ไขผู้กระทำความผิด
ซึ่งกลับตนเป็นคนดีแล้วคืนสู่สังคม ซึ่งถือว่าเป็นเจตนารมณ์ที่ดีของกฎหมาย
"การใช้กฎหมายมีความสำคัญกว่าการสร้างกฎหมาย"
อ้างอิง
นันทิพัฒน์ บุญทวี. "ปัญหาการรอการลงโทษตามประมวลกฎหมาย
อาญา". วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
(กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2550).
ปรีชา ขำเพชร. "ดุลพินิจของศาลในการรอการลงโทษหรือรอการ
กำหนดโทษ : ศึกษาแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา", วิทยานิพนธ์
นิติศาสตรมหาบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.(กรุงเทพมหานคร :
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2546).
เวปไซด์
www.staff.p1.police.go.th/ver2/images/
stories/ms.../106.doc
e-learning.mfu.ac.th/mflu/1601101/chapter0804.html
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น